ความรู้เบื้องต้นในการส่องกล้องทางเดินอาหารในการตรวจแต่ละแบบ

babala

สมาชิกโดดเด่น
Registered
เข้าร่วม
16 กันยายน 2020
ข้อความ
131
docter15122020.jpg
ความผิดปกติเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารและลำไส้อาจจะไม่ได้แสดงอาการให้เห็นชัดเจนแต่แรกเริ่ม แถมอาการทั้งหลายยังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แม้จะเป็นโรคที่ต่างกันและร้ายแรงต่างกัน ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคทางเดินอาหารและลำไส้ด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร จึงเป็นวิธีบ่งชี้ความผิดปกติที่ดีที่สุด เป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่าย และใช้เวลาไม่นาน ในโรคบางโรคแพทย์สามารถให้การรักษาได้ทันที เช่น ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน ทำให้ลดความจำเป็น และความเสี่ยงของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดได้ ซึ่งในการส่องกล้องทางเดินอาหารนั้น สามารถแบ่งการตรวจออกเป็น 3 แบบ ได้ดังนี้

การส่องกล้องทางเดินอาหารในแบบต่าง ๆ

1.การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น (Gastroscopy,EGD)

เป็นเทคโนโลยีการใช้กล้องส่องเข้าไปทางปาก ผ่านหลอดอาหารลงไปภายในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น โดยการตรวจจะใช้กล้องลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กปรับความโค้งงอได้ มีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร และส่วนปลายของกล้องจะมีเลนส์ขยายภาพ ส่วนอีกด้านจะส่งภาพมายังจอมอนิเตอร์ ซึ่งทำให้แพทย์เห็นภายในอวัยวะที่ตรวจได้อย่างชัดเจน โดยการส่องกล้องวิธีนี้จะทำในกรณีมีการอักเสบ เป็นแผล มีเนื้องอก หรือมีการตีบตัน ผู้ที่ปวดท้องส่วนบนเมื่อได้รับการรักษาแล้วยังไม่ดีขึ้น มีอาการกลืนลำบาก อาเจียนเป็นเลือด เพื่อตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ หรือเก็บของเหลว น้ำย่อยตรวจ เพื่อการรักษาตัดติ่งเนื้อ (polyp) จี้ทำลายเนื้องอกออกทางเดินอาหารส่วนบน เพื่อการใส่เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านทางกล้องส่องตรวจ เช่นเครื่องมือขยายหลอดอาหาร อุปกรณ์ฉีดยา หรือรัดหลอดเลือดโป่งพองของหลอดอาหาร เป็นต้น

2.การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonoscope)

สามารถทำการตรวจดูลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ส่วนกลาง ส่วนต้นและลำไส้เล็กส่วนปลาย ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคของลำไส้ใหญ่ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ การส่องกล้องวิธีนี้จะส่องกล้องผ่านเข้าไปทางทวารหนัก โดยคนไข้ไม่รู้สึกเจ็บ มีความปลอดภัย ใช้เวลาตรวจประมาณ 20-30 นาที ขึ้นอยู่กับความยาวลำไส้ใหญ่ของคนไข้ อีกทั้งสามารถตัดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องผ่าตัด และสามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ทันที การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักตรวจในกรณีที่คนไข้มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ท้องผูก หรือท้องเสียเป็นประจำ หรือท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน เมื่อเบ่งถ่ายอุจจาระมีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักและมีเลือดออก มีการอึดอัดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้องร่วมกับมีก้อนในท้อง น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีประวัติว่ามีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ตรวจพบภาวะโลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ การตรวจสุขภาพในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งควรส่องกล้องตามคำแนะนำของแพทย์

3.การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP)

สามารถทำการตรวจรักษาได้โดยการกล้องส่องเข้าไปทางปากผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นจนถึงท่อเปิดของน้ำดีในลำไส้เล็ก แพทย์จึงฉีดสารทึบแสงและถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน ด้านการรักษาสามารถทำได้กับการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดี หรือท่อตับอ่อน การตรวจส่องกล้องจะทำในกรณีที่แพทย์ต้องการตรวจรักษาภาวะดีซ่านนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี ท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน ท่อตับอ่อนอุดตัน เนื้องอกท่อทางเดินน้ำดีหรือตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี

ซึ่งข้อมูลด้านบนที่เราได้เอามาฝากนี้เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นในการส่องกล้องทางเดินอาหารที่เราอยากจะให้ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย ด้วยวิธีในการตรวจแบบต่าง ๆ เช่น การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น , การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน เป็นต้นค่ะ

#ส่องกล้องทางเดินอาหาร
 

กระทู้ที่คล้ายกัน

กลับ
บน ล่าง