Sustainable Growth for All
ผงาดธุรกิจพลังงานยุคดิจิทัล
เมื่อโลกขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทุกธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นสิ่งที่ทุกอุตสาหกรรมให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจพลังงาน ที่หลายคนคิดว่าคงได้รับผลกระทบน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะแนวโน้มของพลังงานหลักที่โลกจะใช้ในอนาคตอาจไม่ใช่น้ำมัน ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์นี้น่าจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี กว่าที่บทบาทของน้ำมันจะลดลง แต่องค์กรอย่าง ปตท. ที่มีภารกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ได้มีการวางแผนรับมือเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว
การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงความท้าทายสำคัญ ทั้งการขับเคลื่อนองค์กร และการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศชาติ ไปจนถึงยุทธศาสตร์ของ ปตท. ในยุคดิจิทัล รวมถึงภารกิจสำคัญในการสร้าง 6 สิ่งใหม่ ที่เป็น New S-Curve สำคัญของ ปตท. ในอนาคต
ยุทธศาสตร์ Sustainable Growth for All
ให้ทุกคนเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน
ชาญศิลป์เริ่มให้สัมภาษณ์กับ การเงินธนาคาร ด้วยการเล่าถึงความท้าทายใน 6 ด้านสำคัญ ที่บุคลากรทุกระดับชั้น ตั้งแต่ ทีมงาน หน่วยงาน ไปจนถึงระดับกรรมการบริษัท ช่วยกันระดมสมอง เพื่อที่จะมองภาพใหญ่ของความท้าทายให้รอบด้าน ครอบคลุมทั้งความท้าทายภายในองค์กรและความท้าทายที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดย ซีอีโอ ปตท. ได้สรุปเอาไว้ทั้งสิ้น 6 ด้านดังนี้
- ความผันผวนของราคาน้ำมัน และบทบาทของพลังงานทดแทนที่เพิ่มมากขึ้น : โดยความท้าทายนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะ ปตท. ไม่สามารถที่จะควบคุมกลไกราคาน้ำมันโลกได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือ การวางแผนรับมือในหลายๆ สถานการณ์เอาไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงที ขณะที่พลังงานทดแทนซึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากราคาที่ค่อยๆ ลดลง ทั้งพลังงานไฟฟ้าโซลาร์ แบตเตอรี่ พลังงานลม ตลอดจนภาวะโลกร้อน ซึ่งกดดันให้ ปตท. ต้องเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่สะอาดมากขึ้น
- การเปิดเสรีของธุรกิจพลังงาน : การเปิดเสรี ทำให้มีเอกชนที่มีเงินทุนเริ่มเข้ามาแข่งขันในธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมีมากขึ้น รวมถึงการเปิดท่อแก๊ซและคลังแก๊ซที่จะให้รายอื่นเข้ามาใช้ได้ ซึ่งจะเป็นความท้าทายโดยตรงทางธุรกิจของ ปตท.
- ความเข้าใจผิดในองค์กร ปตท. : เรื่องความเข้าใจผิดในบทบาทของ ปตท. นั้น ยังคงมีอยู่ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่แม้ว่าปัจจุบันจะค่อยๆ ลดลงแล้ว แต่ ปตท. ก็ยังคงต้องทำการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง
- การสร้างสมดุลระหว่างการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และการสร้างผลกำไรให้กับองค์กร :บทบาทของ ปตท. ทั้ง 2 ด้านนี้ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกคนใน ปตท. จะต้องทำให้ดีที่สุดอยู่เสมอ
- ทรัพยากรพลังงานในอ่าวไทยกำลังลดลง : ทรัพยากรที่ลดลง ทำให้ต้องมีการนำเข้าพลังงานจากภายนอกเข้ามาในประเทศ และจะต้องมีการหาแหล่งพลังงานใหม่เพิ่มเติม
- ผู้บริหารระดับกลางและระดับสูง ของ ปตท. กำลังเกษียณอายุ : การที่ผู้บริหารมากประสบการณ์หลายท่านกำลังอยู่ในช่วงเกษียณอายุงาน ทำให้ต้องมีการวางแผนการทำงานล่วงหน้า เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อได้
โดยยุทธศาสตร์นี้จะเริ่มตั้งแต่พื้นฐานของทำงานที่ต้องคำนึงถึงหลัก 3P คือ 1. คน (People) 2. โลก (Planet) และ 3. ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Prosperity) โดย ปตท.จะมุ่งเน้นภารกิจทั้งการสร้างความมั่งคั่งและมั่นคง ตลอดจนการตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน รวมถึงการดูแลผู้มีส่วนได้เสียของ ปตท. ในทุกด้าน ให้มีความยุติธรรม ส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีที่สุด ทั้ง 3 ข้อนี้ จะเป็นพื้นฐานในการดำเนินงานของ ปตท.ในทุกเรื่อง
“ภารกิจทั้งหมดที่วางไว้ในยุทธศาสตร์ Sustainable Growth for All จะถูกดำเนินงานภายใต้หลักคิด 3P ที่คำนึงถึงผู้คน โลก และความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นการตอบโจทย์เป้าหมายสำคัญของ ปตท. ที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งให้กับองค์กร สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ และสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ และทุกคนที่มีส่วนได้เสียกับ ปตท.”
ขอบคุณข้อมูล : http://www.รู้จริงพลังงานไทย.com/ชาญศิลป์-ตรีนุชกร-ประธาน