คุณกำลังใช้เบราว์เซอร์ที่ล้าสมัย ซึ่งอาจแสดงเว็บไซต์นี้หรือเว็บไซต์อื่นๆ ไม่ถูกต้อง
คุณควรอัปเกรดหรือใช้
เบราว์เซอร์ทางเลือก
ในช่วงตั้งครรภ์นั้น แม่ท้องจะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและโรคผิวหนังเกิดขึ้นได้หลายอย่าง แต่โดยทั่วไปหากได้รับอาหารที่เหมาะสม มีการพักผ่อนหรือออกกำลังกายที่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะสามารถกลับสู่สภาพปกติได้ ภายใน 2-3 เดือนหลังคลอด การที่แม่ท้องมีลักษณะทางผิวหนังที่เปลี่ยนไปจนกังวลใจ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนแปลงจากฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ เช่น เอสโตรเจนจากแม่ หรือเอสทีจีจากลูก และฮอร์โมนที่เกิดขึ้นจากต่อมหมวกไตพบได้ไม่บ่อย สาเหตุเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติของแม่ท้อง อย่างไรก็ตาม ผิวพรรณที่เปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์นี้ แม้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลนัก แต่ก็ควรมีความรู้และเข้าใจไว้บ้าง เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกันและรักษา รู้จักโครงสร้างของผิว ผิวหนังเป็นส่วนที่มีพื้นที่มากที่สุดของร่างกาย มีปลายประสาทมากมาย เป็นที่รวมของระบบประสาทสัมผัสต่าง ๆ เราจึงรู้สึกถึงความร้อน เย็น เจ็บปวด และยังเป็นตัวกำหนดความสวยงามเปล่งปลั่งของผิวอีกด้วย ลักษณะของผิวที่นุ่มชุ่มชื้น ขาว หรือดำ มาจากโครงสร้างที่สมบูรณ์ของผิวที่ประกอบไปด้วย 1. ชั้นหนังกำพร้า (EPIDERMIS) ลักษณะเหนียว แข็งแรงและมีความยืดหยุ่น เป็นชั้นของเซลล์ที่ตายแล้ว แบนราบเกาะติดกับโปรตีน ผิวชั้นนี้จะหลุดออกไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการทดแทนของผิวหนังชั้นใหม่ 2. ชั้นหนังแท้ (DERMIS) มีความสลับซับซ้อนประกอบด้วยเส้นประสาท เส้นเลือด ไขมันสะสม รากขนและกล้ามเนื้อที่บังคับให้ขนลุก ต่อมเหงื่อ ต่อมไขมันที่หลั่งสารน้ำมัน เพื่อช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื่น อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนดสีผิวที่ถูกกำหนดโดยเม็ดสีชื่อ เมลานิน (MELANIN) ผิวจะขาวหรือดำก็ขึ้นอยู่กับเมลานินที่ได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ที่เราเรียกว่าพันธุกรรม สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามปริมาณแสงที่มาสัมผัส และเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เพราะฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ มาดูกันว่าเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง 1. เส้นเลือดขอด เกิดจากมดลูกที่โตขึ้น ไปกดทับเส้นเลือดดำบริเวณหน้าท้องและต้นขาทำ ให้ความดันในเส้นเลือดสูงจึงไปดันเส้นเลือดฝอยให้โป่งและไหลกลับสู่หัวใจได้ยาก โดยเฉพาะคุณแม่ที่เป็นเส้นเลือดขอด เพราะลิ้นเปิด-ปิดผนังเลือดดำอ่อนแออยู่แล้ว จะเป็นมาก ขึ้นบริเวณข้อพับ ขา และน่อง วิธีรับมือ พยายามยกขาให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจเข้าไว้ โดยใช้ขาพาดเก้าอี้หรือตักคุณ สามี ใช้หมอนหนุนปลายเท้า นวดขาให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ใช้ผ้ายืดพันเพื่อบีบให้หลอดเลือดดำแฟบลง 2. สิว กระ ฝ้า จุดด่างดำ และรอยคล้ำใต้ตา เพียงเป็นผลมาจากเจ้าฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งท้องเท่านั้น เพียงทำใจให้สบาย รอให้คลอดก่อน แล้วทุกอย่างจะค่อยกลับสู่ภาวะปกติเอง หากเกิดฝ้าขึ้นมาแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด เพราะจะทำให้ฝ้าเข้มขึ้น และควรทาครีมกันแดดที่มีค่าการป้องกันแสงแดด (SPF) เป็น 15 หรือมากกว่านั้น แต่ถ้าจะใช้ยาทาฝ้าระหว่างตั้งครรภ์ก็ต้องระวัง เพราะส่วนผสมในยาทาฝ้าอาจทำให้แพ้ได้ง่าย นอกจากนี้ส่วนผสมบางตัวอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ โดยทั่วไปฝ้าที่เกิดระหว่างการตั้งครรภ์ มักจางหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด ดังนั้น หากฝ้าไม่จางค่อยปรึกษาหมอเรื่องใช้ยาดีกว่า 3. เส้นดำกลางหน้าท้อง ได้รู้ว่าร่างกายเราแบ่งครึ่งได้ซ้ายขวาเท่ากันเป๊ะก็คราวนี้แหละ เพราะเส้นดำตามแนวตั้งกลางหน้าท้องจะเด่นชัดขึ้น และจะหายไปเองหลังคลอด
4. ขาบวม เกิดจากการคั่งของน้ำในร่างกายและการยืนนาน ๆ แต่ถ้าบวมมาก ๆ ควรปรึกษา แพทย์ เพราะเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ วิธีรับมือคือพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด อย่ายืนหรือเดินติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ 5. ผิวมัน ผิวแห้ง เพราะการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายอีกนั่นเอง คุณท้องบางคนจะร้อนและเหงื่อออกง่าย ไขมันจึงถูกขับออกมาด้วย หรือบางคนร่างกายปรับสมดุล ไม่ทันทำให้ผิวแห้งเป็นขุย จึงควรทานอาหารครบ 5 หมู่ วิตามินเอ บีรวม ซี อี กับ ไอโอดีน ซีเลเนียม สังกะสี และน้ำ ช่วยบำรุงผิวพรรณได้ โลชั่นกับครีมบำรุงผิวเหมาะสำหรับคุณแม่ผิวแห้ง ส่วนคุณแม่ผิวมันต้องขยันล้างหน้ากันหน่อยและงดเครื่องประทินโฉมที่จะทำให้รูขุมขนอุดตัน เพราะอาจเป็นบ่อเกิดของสิวได้ 7. ผิวสีคล้ำ ร้อยละ 90 ของแม่ตั้งครรภ์ จะมีผิวสีคล้ำขึ้น บริเวณที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ บริเวณรอบหัวนม เส้นกลางท้อง รักแร้ อวัยวะเพศ และรอบ ๆ ทวารหนัก ซึ่งทั่วไปหลังคลอดมักจางลงได้เอง ยกเว้นผิวคล้ำที่รอบหัวนมและเส้นกลางท้องที่คงอยู่ตลอดไป ดังนั้นช่วงนี้หากคุณแม่เกิดแผลเป็นขึ้นมาก็จะมีรอยดำได้ง่ายกว่าปกติ เพราะระหว่างตั้งครรภ์มีการเพิ่มของระดับฮอร์โมนที่ทำให้สีผิวเข้มขึ้นมาก ดังนั้นผู้หญิงท้องจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้เกิดบาดแผลขึ้นตามร่างกาย ตลอดจนไม่ควรบีบแกะสิว เพราะจะเกิดแผลเป็นดำดังกล่าว 8. ขน แม่ตั้งครรภ์บางท่านอาจมีขนขึ้นตามใบหน้าที่บริเวณเหนือริมฝีปาก คาง แก้ม แขนขา และหลัง รวมทั้งบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และเส้นกลางท้องขนก็อาจขึ้นดกได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนนั่นเอง แต่ก็จะหลุดร่วงไปภายใน 6 เดือนหลังคลอด 9. คันผิว ระหว่างตั้งครรภ์อาการคันผิวหนังจะเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าปกติ ซึ่งส่วนใหญ่หากใช้ครีมทาให้ความชุ่มชื้น อาการคันจะลดลง แม่ท้องบางคนเข้าใจผิดคิดว่าอาการคันเกิดจากผิวสกปรก จึงมักไปหาซื้อสบู่ยามาฟอก ซึ่งทำให้ผิวหนังแห้งและระคายเคืองเข้าไปใหญ่ ผลก็เลยยิ่งคันมากขึ้น ทางที่ดีควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยามากินหรือมาทาเองเพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ 10. ท้องลาย ร้อยละ 80 ของแม่ตั้งครรภ์อาจเกิดผิวแตกลายที่เรียกว่าท้องลายได้ เริ่มแรกผิวแตกลายนี้จะเป็นรอยสีม่วงหรือสีแดง มักเกิดที่เต้านมและท้อง เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้นขณะท้องมากกว่าเกิดจากการที่ผิวหนังยืดขยายตัว ท้องลายนี้ไม่มีครีมตัวใดที่จะลดการเกิดได้ จึงไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาและเสียเงินเพื่อซื้อครีมราคาแพงมารักษาหรือป้องกันท้องลาย หากผิวแตกลายมีอาการคันอาจใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นทาเพื่อลดอาการคันลงจะดีกว่า 11. ไฝแดง ระหว่างตั้งท้องพบว่าผู้หญิงหลายคนจะมีเส้นเลือดขยายตัวเห็นเป็นแผลไฝแดงมีกิ่งก้านสาขาคล้ายใยแมงมุม มักเกิดตามใบหน้า คอและหน้าอก ไฝแดงเหล่านี้จะค่อย ๆ จางหายไปหลังคลอด 12. เล็บเปราะ ขณะตั้งครรภ์หลายคนจะมีเล็บเปราะหักง่าย จึงควรตัดเล็บให้สั้นและระมัดระวังเวลาใช้มือหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ 13. ผมร่วง ส่วนใหญ่เป็นหลังคลอดลูกแล้ว และมักทำให้ผู้หญิงเกิดความวิตกกังวล กลัวว่าผมจะไม่งอกกลับขึ้นมาใหม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วผมร่วงหลังคลอดจัดเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามธรรมชาติครับ โดยผมจะค่อย ๆ งอกกลับขึ้นมาใหม่ในทุกราย จึงไม่ควรวิตกกังวล เพราะความวิตกกังวลและความเครียดทำให้ผมร่วงได้ 14. ติ่งเนื้อเล็ก ๆ พบบ่อยว่าหญิงมีครรภ์อาจเกิดติ่งเนื้อเล็ก ๆ ที่ผิวหนัง โดยเฉพาะที่ข้างใบหน้า ลำคอ หน้าอกด้านบน และใต้ราวนม ติ่งเนื้อเหล่านี้มักมีขนาดเล็กลงหรือหายไปได้เองหลังคลอด ถ้าไม่หายจะทิ้งไว้ก็ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าทนความรำคาญไม่ไหว หลังคลอดแล้วก็อาจไปพบแพทย์เพื่อใช้กรรไกรตัดออกหรือใช้ไฟฟ้าจี้ก็ได้ 15. กลิ่นตัว โดยทั่วไปร่างกายของแม่ตั้งครรภ์จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น จึงทำให้เหงื่อออกง่าย ก็เลยอาจเกิดกลิ่นตัวตามมา ซึ่งสามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการหมั่นอาบน้ำชำระร่างกาย ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งบางและหลวม นอกจากนั้นการที่ผิวหนังเปียกชื้นอาจทำให้เกิดติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น ถ้ามีผื่นแดงเกิดขึ้นและมีอาการคันร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ เพราะนอกจากอาจเกิดจากเชื้อราแล้ว บางครั้งอาจเป็นโรคผิวหนังชนิดเฉพาะที่พบในการตั้งครรภ์ (specific dermatoses of prognancy) ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และการรักษาที่เหมาะสม จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของผิวพรรณยามตั้งครรภ์นั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวล หลังคลอดก็มักจะดีขึ้นเอง แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง Tips : ผิวสวยระหว่างตั้งครรภ์ ดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หลีกเลี่ยงแสงแดด หรือทาครีมกันแดดค่าความเข้มข้นอย่างน้อย SPF 15 เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้สีผิวคล้ำลง ล้างหน้าด้วยสบู่อ่อน ๆ ป้องกันการเกิดสิว รับประทานผัก ผลไม้ เยอะ ๆ ที่สำคัญอย่าเครียด ที่มา www.kapook.com
กระทู้เพิ่มเติมหมวดหมู่เดียวกัน