รู้หรือไม่ นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2557 เป็นต้นไป ผู้ประกันตนกับประกันสังคมซึ่งอายุครบ 55 ปี จะได้รับบำนาญชราภาพ หลังจากที่สะสมมาจนครบ 15 ปี หรือ 180 เดือน
โดยผู้ประกันตนที่หักเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเกินกว่า 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญ โดยมีวิธีคิดคือ
1. ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นมาตราฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
2. กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพตามข้อ 1 ขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน
3. ค่าจ้างที่ใช้คำนวณเงินสมทบไม่น้อยกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท
ตัวอย่างการคิดบำนาญชราภาพ
โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิกรณีบำนาญชราภาพต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
แต่หากคุณส่งเงินประกันสังคมมาไม่ถึง 15 ปี หรือ 180 เดือน คุณจะได้รับเป็นเงิน "บำเหน็จ" แบ่งเป็น 2 กรณี
- กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
- กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำเหน็จชราภาพ
- จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกันตนและของทายาทผู้มีสิทธิ (กรณีผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพถึงแก่ความตาย)
- ใบมรณะบัตรพร้อมสำเนา (กรณีผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพถึงแก่ความตาย)
- สำเนาสมุดบัญชี เงินฝากธนาคารหน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน 9 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน)
ที่มา www.sanook.com