- เข้าร่วม
- 7 สิงหาคม 2020
- ข้อความ
- 87
สาวๆ หลายคน อาจละเลยกับอาการปวดท้องในช่วงเวลาวันนั้นของเดือน เพราะคิดว่าเป็นเพียงแค่ ”อาการการปวดท้อง” เล็กๆ น้อยๆ ปวดแป๊บเดียว กินยาเดี๋ยวก็หาย แต่ความจริงแล้วอาการปวดท้องอาจนำไปสู่โรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงได้มากมายเลยทีเดียว ไขข้อข้องใจ ปวดประจำเดือน/ปวดท้องน้อย อย่างไร...ถือว่าผิดปกติ
ผู้หญิงหลายคนอาจคิดว่า การปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติของผู้หญิง หรือฟังจากญาติพี่น้องว่าก็ปวดอย่างนี้ทุกคน แต่บางคนถึงขั้นต้องลางานเวลาถึงวันนั้นของเดือน หลายคนเลือกที่จะซื้อหายามารับประทานเอง โดยไม่คิดว่าอาการปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือนนั้นอาจมาจากสาเหตุที่ต้องได้รับการดูแลและแก้ไขจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ไขความจริง “ปวดประจำเดือนอย่างไร” ถือว่าผิดปกติ
จริงๆ แล้วอาการปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือน จะมีอาการปวดได้ในระดับหนึ่ง บางครั้งรับประทานยาแก้ปวดก็จะดีขึ้น แต่มีหลายรายที่อาการปวดท้องประจำเดือนจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดไปหลัง ไปเอว ไปก้นกบ ปวดร้าวไปที่หน้าขา มีอาการท้องอืดท้องบวม ท้องใหญ่ขึ้น เวลามีระดูจะถ่ายอุจจาระเหลวหรือท้องเสีย บางรายถ่ายอุจจาระจะปวดเบ่งปวดถ่ายมากกว่าช่วงไม่มีประจำเดือน บางคนเวลามีประจำเดือนจะปวดปัสสาวะบ่อยมากขึ้น ปัสสาวะขัด หรือเวลามีเพศสัมพันธ์จะเจ็บท้องน้อย เจ็บมดลูก ซึ่งปกติแล้วไม่ควรมี
อาการปวดประจำเดือนดังกล่าวอาจจะมีสาเหตุหรือโรคบางอย่างที่ทำให้เกิดขึ้น ที่พบได้บ่อยคือ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ( Endometriosis ) ซึ่งในระยะแรกจะเป็นตุ่มเล็กๆ ฝังตัวอยู่ในอุ้งเชิงกราน ทุกเดือนที่มีเลือดประจำเดือนออกทางช่องคลอด ตุ่มเล็กๆ ที่ฝังตัวในอุ้งเชิงกรานก็จะมีเลือดออกเช่นกันทุกเดือน จะฝังตัวมากขึ้น เมื่อเป็นมากจะมีพังผืดเกิดขึ้นไปพันรัดกับอวัยวะข้างเคียงทำให้มีอาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ การมีเพศสัมพันธ์ แม้กระทั่งทำให้มีบุตรยาก เนื่องจากท่อนำไข่ไม่สามารถจับไข่ได้ ไข่ก็ไม่สามารถผ่านท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิกับตัวอสุจิ
หากเข้าข่ายปวดประจำเดือนแบบผิดปกติควรทำอย่างไร
อาการดังกล่าวควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อการวินิจฉัยโรค สาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้มีอาการปวดท้องประจำเดือนมากหรืออาการปวดท้องน้อย เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกแทรกในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis), เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (Myoma uteri), พังผืดในอุ้งเชิงกราน, การอักเสบติดเชื้อ, ตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น
หลายครั้งที่ไปพบแพทย์แล้วบอกว่าไม่พบความผิดปกติ ซึ่งอาการของโรคดังกล่าวจากการตรวจร่างกาย ตรวจภายใน อัลตร้าซาวด์อาจไม่พบ การตรวจค้นหาสาเหตุต่อไปคือการส่องกล้องเข้าไปในช่องท้องดูเพื่อตรวจว่าภายในอุ้งเชิงกรานมีพังผืด มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือไม่ ซึ่งสามารถผ่าตัดผ่านกล้องรักษาได้ในเวลาเดียวกัน อะไรที่แอบแฝงอยู่ ตรวจหลายครั้งยังมีอาการปวดอยู่ ปวดมากบางครั้งเป็นลม จนคนข้างๆ คิดว่ามารยาหรือคิดมาก คิดไปเองหรือเป็นโรคประสาท หลายคนอาจจะหลงไปอยู่ที่คลินิกจิตเวชก็เป็นได้
Check list คุณเข้าข่ายปวดประจำเดือนแบบผิดปกติหรือไม่
ลองเช็คอาการเหล่าดู หากยังไม่แน่ใจว่าคุณควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ เพราะการตรวจเช็คสุขภาพภายในของสตรี เพื่อสืบค้นรอยโรคซ่อนเร้น เป็นสิ่งที่จำเป็นแม้ว่ายังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เพราะหากตรวจวินิจฉัยพบความผิดปกติในระยะเริ่มแรกจะสามารถรักษาให้หายได้
ท่านมีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่ ! (ใช่/ไม่/ไม่เคยตรวจ)
1. ปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ
2. ปวดประจำเดือนมากจนต้องกินยาแก้ปวดเป็นประจำ
3. ปวดประจำเดือนมากจนต้องเพิ่มขนาดยาแก้ปวดมากขึ้น
4. ต้องไปพบแพทย์ทุกครั้ง เพื่อฉีดยาแก้ปวดเมื่อมีประจำเดือน
5. มีประจำเดือน ปวดท้องน้อยมากจนเป็นลม
6. มีประจำเดือน มีอาการปวดไปหลัง ไปเอว ก้นกบ ร้าวไปที่ขา
7. มีประจำเดือน มีอาการปวดไปทวารหนัก
8. มีอาการปวดร้าว ลงขา เมื่อมีประจำเดือน
9. มีประจำเดือน มีอาการท้องอืด ท้องบวม ท้องใหญ่ขึ้น
10. ถ่ายอุจจาระช่วงมีประจำเดือนจะปวดเบ่งถ่ายมากกว่าปกติ
11. มีประจำเดือน จะปัสสาวะบ่อยมากกว่าปกติ
12. ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดประจำเดือน ได้รับตรวจหลายครั้ง
ไม่พบความผิดปกติ
13. มีเพศสัมพันธ์กับแฟน จะเจ็บมดลูก เจ็บท้องน้อย
14. คลำได้ก้อน ที่ท้องน้อย
15. ปวดท้องน้อย ร่วมกับมีเลือดประจำเดือนออกมาก ออกนาน เป็นก้อน
16.เคยตรวจพบเนื้องอกหรือได้รับการผ่าตัดช็อกโกแลตซีสต์
หากตอบว่า “ใช่” ในข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่านั้นควรได้รับคำปรึกษาจากสูตินรีแพทย์ เพื่อรับการตรวจภายในและอัลตร้าซาวด์เพื่อค้นหารอยโรคที่แฝงอยู่
คุณผู้หญิงทุกคนควรสังเกตอาการปวดท้องประจำเดือนของตัวเอง กรณีพบว่าตนเองมีความผิดปกติ ควรได้รับคำปรึกษาจากสูตินรีแพทย์ เพื่อรับการตรวจภายในและอัลตร้าซาวด์เพื่อค้นหารอยโรคที่แฝงอยู่ ทั้งนี้สามารถเข้ามาปรึกษาที่โรงพยาบาลนนทเวชได้ โดยโรงพยาบาลนนทเวชพร้อมด้วยทีมสูตินรีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยให้แนะนำค่ะ
ขอบคุณข้อมูล : https://www.nonthavej.co.th/Menstrual-Cramps.php
#ปวดประจำเดือน , ปวดท้องน้อย , รอบเดือนของผู้หญิง , สุขภาพผู้หญิง , ส่องกล้อง, ปวดท้องเมนส์ , โรงพยาบาลนนทเวช