รถยนต์ HYBRID, รถยนต์พลังงานทางเลือก,รถประหยัดน้ำมัน

teerana

สมาชิกใหม่
Registered
เข้าร่วม
24 ธันวาคม 2018
ข้อความ
2
สวัสดีค่ะ วันนี้เรามีโอกาสจับเข่าคุยกับคุณ รวิศ หาญอุตสาหะ ในประเด็นที่กำลังตกเป็นที่สนใจอยู่ตอนนี้ เป็นประเด็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ รถยนต์พลังงานทางเลือก ที่จะมีส่วนช่วยโลกของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไรนั้น มาฟังความคิดจากเขาไปพร้อม ๆ กัน



9660lS.jpg

ในช่วงที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 มองว่ามีประเด็นไหนที่เราต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

ถ้ามองในอนาคตจริงๆ มีสองเรื่องที่ใหญ่มากๆ เกี่ยวข้องตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม และการดำรงชีวิตของมนุษย์ อย่างแรกคือเรื่องของ AI ซึ่งมาแน่นอน เราใช้กันอยู่แล้วแต่บางคนอาจยังไม่รู้ เป็นวิวัฒนาการที่ใหญ่มาก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ในระดับร้อยปีหรือพันปีเราไม่เคยเห็นวิวัฒนาการใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ส่วนอีกพาร์ตหนึ่งคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็อยู่ในช่วงที่เป็นรอยต่อ ล่าสุดเกือบทุกประเทศไปเซ็นสนธิสัญญาปารีสที่บังคับใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมในปี 2020 กันหมด ถ้าใครได้ดูดีเทลจะพบว่ารุนแรงกว่าที่คิดเยอะ

สองเรื่องนี้จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนโลกของเราในอีก 20-30 ปีข้างหน้า แล้วมันจะเกี่ยวข้องอะไรกับประเทศเราบ้าง คือเราอยู่ในช่วงที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค 4.0 ที่พูดถึงเทคโนโลยี ข้อมูล ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ เปลี่ยนตัวเองจากการเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีใน การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ฟังๆ อาจดูดี แต่ต้องมีกระบวนการในการปลูกฝังความคิดและระบบการศึกษาที่ไม่ใช่การไปนั่งเรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการศึกษาที่สอนคนทั้งชาติ ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญ อะไรคือสิ่งที่คุณต้องทำ อะไรคือหน้าที่ของคุณ คือการสอนวิธีคิดในการก้าวเข้าสู่อีกยุคหนึ่ง ว่าคุณจะทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว นี่คือสิ่งที่ยากมาก



การเปลี่ยนแปลงที่ว่า ถ้าโฟกัสไปที่เรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ภาพไหนชัดเจนที่สุด

ยกตัวอย่างบริษัทน้ำมัน จะเห็นได้ว่าเขาเริ่มมีรายได้จากธุรกิจประเภทอื่นที่จะแซงธุรกิจน้ำมันอยู่แล้ว เขาเริ่มปรับตัว เพราะโครงสร้างเชิงพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป เทรนด์ทั้งโลกตกลงกันมาแล้วว่า เราจะปล่อยของเสียทุกรูปแบบน้อยลง ที่ปล่อยกันมากคือบรรดาสารพัดก๊าซทั้งหลาย ซึ่งก็มาจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปแบบเก่า ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักร่วมกัน การเกิดขึ้นของรถไฮบริด รถไฟฟ้า พลังงานทดแทนทุกรูปแบบ ทั้งลมและน้ำ มันเป็นเส้นเดียวกันที่อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกัน ประเทศไทยจึงต้องมีแผนความมั่นคงทางพลังงาน ไม่อย่างนั้นอนาคตจะมีปัญหาได้

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่ทุกคนคิด เมื่อปี 1900 ถ้าใครเคยไปดูรูปถ่ายที่ถนน Fifth Avenue ของนิวยอร์ก ทั้งถนนเป็นรถม้าหมดเลย มีรถยนต์อยู่แค่หนึ่งคัน แต่ผ่านไปปี 1913 รูปถ่ายมุมเดียวกัน ทั้งถนนเป็นรถยนต์หมดเลย เหลือรถม้าอยู่คันเดียว เวลาผ่านไปแค่ 13 ปีเท่านั้น นี่คือ Technology Disruption ซึ่งเราจะเห็นภาพแบบนี้ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าแล้ว



ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเน้นย้ำกันบ่อยมาก แต่ดูเหมือนคนจะมองเป็นเรื่องไกลตัว มีวิธีไหนที่ทำให้เกิดการตระหนักรู้จริงๆ ไหม

สิ่งหนึ่งที่ใช้แล้วได้ผล คือเราจะต้องไม่ปกปิดความจริง ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ไม่ได้เห็นว่ารัฐมีการปกปิดความจริงแต่อย่างใด แต่ว่าบางทีเราอาจจะไม่ได้นำเสนอเรื่องราวชัดๆ ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างไร อย่างเช่นเรื่องภัยแล้ง ทุกคนก็รู้ว่าเป็นปัญหามาจากเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีใครพูดตรง ๆ มัวแต่ไปโฟกัสว่าจะทำยังไงให้ปลูกพืชขึ้นหรือทำยังไงให้ราคาผลผลิตขึ้น หรืออย่างปัญหาเรื่องหมอกควันในภาคเหนือ ก็ไปโฟกัสที่จะทำยังไงไม่ให้คนเผาป่า กลับไม่ได้ดูว่าเขาเผาป่าเพราะอะไร หรือจะให้ความรู้ในการแก้ปัญหาให้เขาได้ยังไง ซึ่งจริง ๆ มันเป็นวิถีชีวิตของเขา ต้องให้ความรู้ในการหาทางออก อยากให้คนแยกขยะก็ต้องบอกว่าแยกขยะแล้วได้อะไร ถ้าภาครัฐทำให้เห็นว่า ประโยชน์ของการแยกขยะอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณตรง ๆ แต่มันจะเกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อมนะ พอคนเห็นภาพจนเข้าใจก็จะทำ ทุกวันนี้ที่คนไม่ทำคือเพราะไม่เห็นภาพ สรุปคือหน้าที่ของภาครัฐต้องทำให้คนเห็นภาพให้ได้ สิ่งที่เขากำลังทำมันส่งผลยังไงกับภาพใหญ่ของประเทศและของโลก



การที่รัฐปรับลดโครงสร้างภาษีสำหรับรถไฮบริดและรถไฟฟ้า คิดว่าเป็นมาตรการที่ทำให้คนหันมาสนใจประเด็นนี้ได้มากขึ้นไหม

เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ เพราะว่ายังไงก็แล้วแต่ เรื่องราคาก็ยังเป็นประเด็นสำคัญเสมอ แล้วรถยนต์เป็นของชิ้นใหญ่ที่คนจะกังวลเรื่องราคา ถ้าลดได้ก็ดี แต่เรื่องอื่นก็ต้องดูด้วย อย่างเช่นที่ชาร์ตไฟ ระบบชาร์ตไฟที่บ้านหรือข้างนอก ต้องมีการออกแบบ และเรื่องการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ได้เหมือนกับรถทั่วไป สิ่งสำคัญก็คือคนต้องเข้าใจว่าความแตกต่างของรถกับรถธรรมดาแตกต่างกันอย่างไร เขาได้อะไรในทางตรงและทางอ้อม



เรื่องเงินเป็นประเด็นสำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ต้องทำควบคู่กันไป ผมคิดว่าคล้ายๆ กับการกินอาหาร พวกผักสลัด ปลา อาจจะแพงกว่าอาหารอ้วนๆ หน่อย และอาจจะไม่ถูกใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งการกินหมูสามชั้นหรือสลัดวันนี้อาจจะไม่เห็นผลทันที แต่ถ้ามองไปในอนาคตอีกสัก 5 ปี เราจะเห็นว่าสิ่งที่เราทำทุกวันนี้มันเห็นผล ความคุ้มค่าไม่ได้มีมิติแค่เรื่องเงินหรือส่วนต่างของน้ำมันที่เสียไป แต่เรากำลังมอบโลกที่ดีกว่าให้กับคนยุคหลังที่เป็นความรับผิดชอบของเรา ตอนที่เราแก่และกำลังจากโลกนี้ไป เราอยากจะส่งมอบโลกนี้ให้คนรุ่นต่อไปในสภาพแบบไหน ผมว่าเรื่องนี้มีค่ามากกว่าเงินเยอะเลย



แต่ในแง่การใช้งานรถยนต์ไฮบริดจริงๆ คนก็ยังกังวลเรื่องของค่าบำรุงรักษาและการประหยัดน้ำมันอยู่ดี

เรื่องของการบำรุงรักษาเป็นเรื่องที่คนไทยกลัวที่สุด ก็ต้องให้ความรู้เพื่อให้เห็นภาพว่า รถคนนี้ใช้มา 10 ปีแล้ว ค่าบำรุงรักษาปีละเท่านี้เอง ไม่ได้แพงอย่างที่คิด ซึ่งตรงนี้คนไทยยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน เพราะหลายคนพอนึกถึงรถไฮบริดคือมีเรื่องอิเล็กทรอนิกส์เยอะ ทำให้รู้สึกว่ามีอะไรที่ซ่อมยาก อีกอย่างหนึ่งที่เป็นประเด็นในประเทศไทย แต่ประเทศอื่นไม่น่าเป็น คือเรื่องของราคาขายต่อ ถือเป็นจิตวิทยาหมู่ประมาณหนึ่ง ถ้ารถรุ่นนี้เป็นที่นิยม ราคาขายต่อสูง คนก็จะอยากซื้อ แต่ในทางกลับกัน ถ้าราคาขายต่อไม่ดีก็ไม่อยากซื้อ ตรงนี้ผู้ผลิตก็ช่วยได้ในเรื่องของตลาดรองรับ ทำให้คนที่ซื้อสบายใจมากขึ้น

ขณะเดียวกันเรื่องของการประหยัดน้ำมัน ตกลงว่ามันช่วยลดการใช้น้ำมันลงได้แค่ไหน ครึ่งหนึ่งหรือยังไง ภาพนี้ยังไม่ได้ถูกส่งออกมาให้ชัด และเราอาจจะต้องพูดในอีกหลายมิติว่าเรื่องก๊าซไอเสียที่ปล่อย อย่างดีเซลก็ประหยัดเท่าๆ กัน แต่ไอเสียที่ปล่อยออกมาก็มากกว่า อีกอย่างที่เป็นภาพใหญ่ขึ้นไปอีกคือเรื่องของจิตสาธารณะก็ได้ ถ้าช่วยกันเน้นย้ำว่าสิ่งแวดล้อมและอากาศเป็นสิ่งที่เราต้องใช้ร่วมกัน คนก็จะรู้สึกว่าเรามีหน้าที่ต้องปล่อยไอเสียให้น้อยลง



เคยได้ทดลองใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกบ้างไหม

จริง ๆ ได้ใช้ตั้งแต่โตโยต้า พรีอุส เจนแรก ตอนนั้นก็ตื่นเต้นดีเพราะว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก จนคนไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร เป็นประสบการณ์การใช้งานที่ดี เพราะว่ามันเงียบและประหยัดมาก ชอบที่สุดคือเงียบ คือเป็นคนที่ชอบคิดอะไรในรถเยอะ บางทีก็ไม่ได้ฟังเพลง แต่ผมคิดว่าที่มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้นคือเรื่องของความเชื่อของเราที่อยากจะทำอะไรดีๆ ให้กับโลกนิดหนึ่ง ผมคิดว่าของทุกอย่างที่เราใช้รวมถึงรถยนต์ มันสะท้อนสิ่งที่เราเชื่อ ซึ่งการใช้ของแบบนี้มันบอกอะไรกับสังคมได้ จึงทำให้อยากจะซื้อของกับแบรนด์ที่มีความเชื่อเหมือนกับเรา ไดเรกชั่นของบริษัทคืออะไร และทิศทางของสินค้ามันสอดคล้องกับตัวแบรนด์รึเปล่า



966YBg.jpg

มองว่าอนาคตของรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร

ในระยะสั้นคิดว่าคนที่เป็นผู้เล่นสำคัญที่สุดคือภาครัฐ ถ้าภาครัฐสนับสนุนมาแน่นอน ซึ่งโครงสร้างภาษีทำให้ราคารถค่อนข้างแพง แต่เมื่อใดที่ภาครัฐเข้ามามันจะเปลี่ยนแปลงราคาโครงสร้างรถยนต์ได้อย่างมากเลย แต่ว่าระยะยาวต้องมาจากตัวผู้ใช้ที่เริ่มตระหนักว่า เราต้องดูแลโลกมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่จะมีความเชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อ เพราะฉะนั้นของพวกนี้ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง

ผมมีความเชื่อว่าทุกคนมีส่วนในการรับผิดชอบและส่งต่อโลกนี้ให้กับคนรุ่นต่อไป เพราะในยุคที่ผ่านมา เราใช้ทรัพยากรโลกไปเยอะมาก ตอนนี้เรามีหน้าที่คือช่วยลดความรุนแรงของเรื่องนี้ให้มากที่สุด นั่นคือการช่วยเหลือกัน

และนี่คือสิ่งที่ รวิศ หาญอุตสาหะ ตกผลึกความคิดให้เราได้เข้าใจโลกมากขึ้น มองอนาคตมากขึ้น และอยากเปลี่ยนโลกร่วมไปกับเขามากขึ้น แล้วคุณล่ะ เริ่มรักโลกขึ้นมาบ้างหรือยัง?

ขอบคุณข้อมูลจาก https://thematter.co/sponsor/hybrid-vehicle/52352
 
แก้ไขล่าสุด:

กระทู้เพิ่มเติมหมวดหมู่เดียวกัน

กลับ
บน ล่าง