4 นิสัยเสียเปลี่ยนได้ตั้งแต่วัยเยาว์ (รักลูก)
วัย 3-6 ปี ถือเป็นช่วงที่สมองส่วนกลางด้านอารมณ์กำลังพัฒนาค่ะ จึงทำให้ลูกวัยเยาว์มีพฤติกรรมจริงจังกับทุกเรื่องที่เข้ามากระทบ จึงพลอยทำให้มีอารมณ์โกรธง่าย เอาแต่ใจ หรืออ่อนไหวเป็นสาวน้อยเจ้าน้ำตา ฯลฯ ได้
คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งกังวลไป ว่าพฤติกรรมในทางลบเหล่านี้ จะกลายเป็นนิสัยถาวรที่จะติดตัวลูกไปจนโต เพราะจริง ๆ แล้วมีวิธีแก้และควรจะเริ่มตั้งแต่วัย 3-6 ปีนี้เลยค่ะ
4 นิสัยเสีย...เปลี่ยนได้ตั้งแต่วัยเยาว์
เด็กวัย 3-6 ปีเป็นวัยแห่งการท้าทายผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ 4 พฤติกรรมต่อไปนี้ที่ต้องรีบแก้ไขค่ะ
1. ขโมย วัยนี้เป็นวัยที่มีความอดทนต่อความคับข้องใจต่ำ ทั้งอยากเรียนรู้ และสนใจสิ่งแปลกใหม่รอบตัวมาก จึงไม่แปลกที่ลูกจะชอบหยิบนู่น ค้นนี่อยู่เป็นประจำ หรือมักจะหยิบของที่ตัวเองอยากได้ไปโดยไม่ขออนุญาต ซึ่งพฤติกรรมนี้ ลูกกำลังเรียนรู้ว่าเขามีขอบเขตแค่ไหนในการทำสิ่งที่ต้องการ
Tip For Change : คุณพ่อคุณแม่สามารถบอกลูกตรง ๆ ได้เลย หากเห็นว่าลูกชอบหยิบของโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น หยิบมือถือจากกระเป๋าคุณแม่ ก็ให้บอกตรง ๆ ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลว่าห้ามล้วงกระเป๋าคุณแม่นะคะ เพราะเป็นของส่วนตัวของคุณแม่ หากอยากได้ของในกระเป๋าลูกก็ต้องขออนุญาตคุณแม่ก่อนทุกครั้ง ซึ่งวิธีนี้ในครั้งแรก ๆ ลูกอาจจะยังไม่เข้าใจ เพราะรู้สึกเหมือนโดนขัดใจ แต่ถ้าเราทำอย่างจริงจังในทุกครั้ง ลูกก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ขอบเขตของตัวเองมากขึ้น
2. เจ้าน้ำตา การที่ลูกร้องไห้ง่าย หรืออ่อนไหวกับเรื่องที่มากระทบจิตใจได้ง่าย ถือเป็นการแสดงออกทางอารมณ์ตามพัฒนาการตามวัยอย่างหนึ่งค่ะ แต่ก็มีงานวิจัยบอกว่าเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไปที่มีปัญหาร้องไห้ และหงุดหงิดง่าย จำนวน 50% โตมาจะเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่มีปัญหาด้านอารมณ์ และพฤติกรรมได้
Tip For Change : ในวัยนี้ ลูกอาจยังไม่รู้จักการรอคอย แล้วแสดงออกด้วยการร้องไห้ได้ คุณแม่ควรปล่อยให้ลูกร้อง แต่ขณะที่เขาร้อง ให้เราสะท้อนอารมณ์ลูกว่า "ลูกกำลังโกรธเหรอคะ ท่าทางจะหงุดหงิดด้วย ให้แม่ช่วยอะไรมั้ยคะ" เพื่อให้ลูกบอกเล่าถึงสิ่งที่เขาต้องการ
ที่สำคัญคุณแม่ต้องใช้น้ำเสียงอ่อนโยน เหมือนเรากำลังปลอบโยนเขา และสามารถตามใจลูกได้บ้างในบางเรื่องไม่จำเป็นต้องขัดใจลูกไปเสียหมด โดยเฉพาะในวัย 3 ขวบเป็นต้นไป เป็นวัยที่ลูกกำลังพัฒนาตัวตน และแสดงบุคลิกของตัวเองมากขึ้นค่ะ
3. โมโหร้าย เพราะวัย 3-6 ปี สมองส่วนควบคุมอารมณ์ของลูกกำลังพัฒนา ทำให้เขาแสดงอารมณ์หุนหันพลันแล่น ทำลายข้าวของ หรือทำร้ายร่างกายคนอื่นเวลารู้สึกไม่พอใจได้ ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกแสดงพฤติกรรมแบบนี้ทุกครั้งเมื่อรู้สึกโกรธ ลูกก็จะติดนิสัยนี้ไปจนโตได้นะคะ
Tip For Change : หากลูกมีอารมณ์โกรธ และมักแสดงออกด้วยการทำลายข้าวของ หรือมักชอบทำร้ายร่างกายคนอื่น คุณแม่ต้องจัดการอารมณ์ของตัวเองให้สงบ ไม่รู้สึกโกรธหรือโมโหลูกก่อนนะคะ แล้วค่อย ๆ พูดกับเขาว่าหนูรู้สึกโกรธได้นะ แต่ทำร้ายคนอื่นไม่ได้
ช่วงแรก ๆ ลูกอาจจะทำตามที่เราบอกไม่ได้ คุณแม่สามารถใช้วิธีเข้าไปจับให้เขาหยุดได้ แต่ครั้งต่อ ๆ ไป หากลูกรู้จักยับยั้งตัวเองได้บ้าง ก็ให้ใช้แค่เสียง หรือชี้แล้วมองเพื่อเป็นสัญญาณให้เขารู้ว่าต้องหยุดได้แล้ว ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นต้นแบบของการใช้อารมณ์อย่างเหมาะสมด้วยนะคะ
4. พูดโกหก การโกหก เป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งค่ะที่มักเจอในเด็กวัย 3-6 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เรื่องที่เขาพูดโกหกอาจจะเป็นเพียงการพูดตามจินตนาการ หรือผู้ใหญ่เป็นคนกระตุ้นให้เขาโกหกโดยไม่ตั้งใจ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องทำความเข้าใจที่มาของการพูดโกหกก่อน เพื่อปรับเปลี่ยนนิสัยนี้ของลูกได้ตรงจุดมากที่สุด
Tip For Change : หากลูกพูดไปตามจินตนาการ เช่น เขาอาจพูดถึงเพื่อนที่โรงเรียนเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งฟังแล้วไมได้เป็นเรื่องที่ส่งผลเสียหาย ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องจริง ก็ปล่อยไปเถอะค่ะ
แต่ถ้าเขาพูดโกหก เพื่อให้คุณแม่อนุญาตให้เขาทำในสิ่งที่อยากทำ กรณีนี้คุณแม่อย่าเพิ่งคาดคั้นให้ลูกขอโทษที่โกหกนะคะ เพราะเขาอาจจะยิ่งต่อต้าน เช่น เขาอาจขอไปเล่นกับเพื่อน ให้คุณแม่ใช้วิธีคุยกับเขาว่าทำไมอยากไปเล่นกับเพื่อน นอกจากช่วยกระตุ้นให้ลูกบอกเหตุผลจริง ๆ ได้แล้ว ยังช่วยให้เขาไม่พูดโกหกในครั้งต่อไปได้
หากเราเปลี่ยนวิกติให้เป็นโอกาสทองให้ลูกได้เรียนรู้ตามวัยอย่างเต็มที่และเหมาะสม นอกจากจะช่วยให้เขาได้สำรวจตัวตนของตัวเองแล้ว ยังช่วยลดโอกาสที่นิสัยไม่ดีเหล่านี้จะติดตัวลูกไปจนโตอีกด้วยนะคะ
แม่และเด็ก การตั้งครรภ์ อาหารเด็ก นิทาน ตั้งชื่อลูก เรื่องน่ารู้คุณแม่ คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก