ถนนขรุขระเลียบทางรถไฟย่านใกล้วัดเสมียนนารี ฝุ่นตลบคลุ้งกลางแดดแรงระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟฟ้าสีแดง ถ้าไม่สังเกตจะมองไม่เห็นบ้านพักคนงานสีเหลืองสดริมทาง เลี้ยวรถเข้าไปจะพบป้ายทั้งภาษาพม่า กัมพูชา ไทยด้านหน้ารั้ว ก่อนเข้าเขตบ้านพักคนงานก่อสร้างที่สร้างด้วยตู้คอนเทนเนอร์สีสดวางซ้อนกัน 3 ชั้น จริงอยู่ว่า ที่นี่เป็นบ้านพักคนงานที่แปลกตา ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ไม่ได้แค่เรื่องนี้ที่ต้องเดินทางมา
มุมลึกสุดของพื้นที่บริเวณบ้านพักคนงานก่อสร้าง มีอาคารเล็กๆ หลังหนึ่ง ที่สร้างต่อเติมมาจากตู้คอนเนอร์ 1 ตู้ มีเสาธงชาติไทยอยู่ด้านหน้าอาคาร ที่นี่เป็นที่พักของครูคนหนึ่ง ครูเพียงคนเดียวที่มาคอยสอนนักเรียนขาจรหลายสิบชีวิต นักเรียนของคุณครูคนเดียวคือเด็กๆ ต่างด้าว ทั้งกัมพูชา พม่า และเวียดนามปะปนกัน เด็กๆ เป็นลูกของคนงานในไซต์ก่อสร้างแห่งนี้ หากจะเรียกว่าที่นี่เป็นโรงเรียนแห่งแรกในบริเวณบ้านพักคนงานก่อสร้างของประเทศไทยก็ไม่น่าผิด แม้ว่าป้ายที่หน้าอาคารเขียนว่า “ศูนย์เด็กก่อสร้าง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก”
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนที่แรกในแคมป์ก่อสร้างของไทยแห่งนี้ และได้โอกาสสัมภาษณ์ “ไพโรจน์ จันทรวงษ์” ครูคนเดียวของโรงเรียนแห่งนี้
ครูคนเดียว-โรงเรียนแห่งเดียวในแคมป์คนงานก่อสร้างของไทย
“ไพโรจน์ จันทรวงษ์” ครูคนเดียวของโรงเรียนชั่วคราวแห่งนี้ เล่าว่า โรงเรียนแห่งนี้เปิดเป็นรูปเป็นร่างมาได้ร่วม 10 เดือน แต่ที่จริงเขาเริ่มมาเข้าสอนเด็กที่นี่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว แต่แรกที่เข้ามาสอนที่นี่ยังไม่มีอาคารหลังนี้ เด็กเข้ามาเริ่มเรียนด้วยมีเพียง 4-5 คน และก็พากันไปเรียนตามซอกตู้คอนเทนเนอร์ ก่อนที่จะได้มีอาคารที่เป็นเหมือนห้องเรียนไว้สอนเด็กอย่างเป็นสัดส่วน
ไพโรจน์ จันทรวงษ์
สำหรับครูไพโรจน์ การรอคอยให้มีห้องเรียนและอุปกรณ์การศึกษาเพียบพร้อม โดยไปสอนตามซอกตู้คอนเทนเนอร์ก่อนนั้น ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง เขาสอนเด็กๆ ตามบ้านพักคนงานก่อสร้างมานานกว่า 7 ปี ที่เคยสอนกันใต้ต้นตาลก็มี โต๊ะเก้าอี้มีเด็กๆ ไปสรรหาเก็บมา พออากาศร้อนก็พากันวนโต๊ะเก้าอี้รอบเงาต้นตาลไปทุกๆ 30 นาที หรือบางทีร้อนมากๆ ก็ต้องพากันเดินไปสอนในป่า
จุดเริ่มต้นของการมีโรงเรียนในบริเวณบ้านพักคนงานก่อสร้าง เพื่อสอนเด็กๆ ที่เป็นลูกของคนงาน เริ่มมาจากเมื่อปี 2540 บริษัทนารายณ์ พร็อพเพอร์ตี้ และ บริษัทที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง(2004) ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมา เข้ามาร่วมงานก่อสร้างคอนโดด้วยกัน และเห็นว่าในบ้านพักคนงานก่อสร้างมีเด็กเยอะ จึงเข้าไปปรึกษากับมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เนื่องจากเห็นว่า ทางมูลนิธิทำงานเกี่ยวกับการศึกษาสำหรับเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสอยู่แล้ว ครูไพโรจน์และเพื่อนครูในมูลนิธิฯ จึงเข้ามาพูดคุยและสำรวจพื้นที่ และลงมือร่วมงานตั้งแต่นั้นมา
“แต่แรก (ปี 2540) มีครูผู้หญิงเข้ามาเริ่มทำก่อน แล้วเราก็มาช่วย พอมาช่วย เราก็กลับไม่ได้ เพราะบริษัทเขาต้องการให้เราอยู่ช่วยสอนเด็กต่อ เราก็ต้องช่วยไปจนครบปี เราอยู่สอนจนบ้านพักคนงานย้ายไปทำงานที่อื่น คนงานและเด็กๆ ย้ายไปเกือบ 3 เดือนแล้ว เราก็ยังอยู่ เพราะยังเหลือเด็กอยู่อีก 2 คน เราก็สอน สอนไปสอนมาจนเหลืออยู่คนเดียว พนักงานบริษัทผู้รับเหมาบางคนมาเห็นตอนคนย้ายไปจะหมดแล้ว ก็มาถามว่า อ้าว ที่นี่มีโรงเรียนด้วยเหรอ เราก็บอกว่ามีครับ โน่น อยู่ตรงป่าต้นกกตรงนั้น ไฟฟ้าก็ไม่มีใช้ พอเขาเห็นเราสอนเด็กจริงๆ เขาก็บอกว่า ครูตามไปสอนอีกที่ (บ้านพักคนงานก่อสร้างอีกแห่ง) ด้วยนะ
“เราก็ตามไป อยู่แถวราชพฤกษ์ จากที่คุยกันไว้ว่าจะมีแปลนโรงเรียนเป็นสัดส่วน ถึงเวลาพอไม่มี เราไปเห็นตู้คอนเทนเนอร์ เราก็เอาตู้นั้นแหละมาทำห้องเรียน มันก็ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น หาตู้ หาของมาใส่ กว่าจะได้มาก็เหนื่อย แต่ถือว่า 7-8 ปี แล้วได้มาแบบนี้ก็โอเคแล้ว เพราะในพื้นที่ของที่พักคนงานก่อสร้างแต่ละแห่ง มีคนมาควบคุมหลายส่วน มีคนอยากมาเช่าที่ทำร้านค้า ทำโน่นทำนี่ จึงเป็นเรื่องยากที่มีโรงเรียน เพราะมันไม่สร้างรายได้ แต่บางทีระดับผู้บริหารเข้าใจ สั่งลงมาระดับคนคุมที่พักคนงานก่อสร้างไม่เข้าใจ ก็ไม่ได้สร้างหรอก โชคดีที่ทางบริษัทที.ที.เอส. เข้าใจเรื่องนี้จริงๆ แล้ว”
โรงเรียนในบ้านพักคนงานก่อสร้างแห่งแรกในไทยแห่งนี้ จึงเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก บริษัท ที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง(2004) จำกัด และงบประมาณจาก ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์
แต่โรงเรียนเช่นนี้มีความจริงของมันเองอยู่หนึ่งอย่างคือ เป็นโรงเรียนอายุสั้น ต้องล้มและรื้อห้องเรียนซึ่งเป็นที่โคจรของครูและนักเรียนหลายเชื้อชาติในสักวันหนึ่ง นักเรียนต้องย้ายและติดตามพ่อแม่ไปเมื่อการก่อสร้างนั้นๆ จบลง เติบโตต่อไปในบ้านพักคนงานก่อสร้างแห่งใหม่ ส่วนครูก็เดินทางต่อไปกับโรงเรียนในบ้านพักคนงานแห่งใหม่ ทำความรู้จักกับเด็กใหม่ๆ ด้วยบทเรียนเดิม หากบริษัทที่ต้องการสนับสนุนโครงการนี้ยังคงให้โอกาสครูได้สอนต่อไป ครูไพโรจน์ก็พร้อมที่จะเจอนักเรียนต่างเชื้อชาติและภาษาคนใหม่ๆ
โรงเรียนแห่งนี้ มีกำหนดรื้อในเดือนเมษายน ปี 2558 และครูคนเดียวของโรงเรียนยังอยากทำงานต่อ หากทุกฝ่ายเห็นว่า สถานที่แห่งนี้มีประโยชน์
เสียงในห้องเรียนนานาชาติ
เสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กๆ ต่างชาติ ไม่แตกต่างจากเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กไทย เมื่อยามพวกเขาสนุกสนานและอยากพูดคุยหรือร้องรำทำเพลง แต่ในเวลาเรียน เด็กๆ เหล่านี้เงียบสนิท และตั้งใจเรียนมาก ระดับผู้เฝ้าสังเกตุการณ์ยังต้องอาย
ครูไพโรจน์เล่าให้ฟังคร่าวๆ ถึงตารางสอนของเด็กต่างชาติเหล่านี้ว่า “เด็กทั้งห้องตอนนี้ 35 คน หลักๆ การเรียนแต่ละวัน เด็กจะนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย เล่านิทาน เรียนศัพท์ภาษาไทย ศุกร์-เสาร์ งานประดิษฐ์ พฤหัสบดี ศิลปะ แต่มันไม่ตายตัว ผมจะเตรียม (ตารางสอน) ไว้ 4-5 ชุด ก็ปรับตามสถานการณ์ บ้างวัน ร้อนมาก อบอ้าวในห้องเรียน ก็ต้องทำอย่างอื่น พาไปเล่นลานข้างนอก บางทีก็หารถกระบะ พาเด็กไปสวนรถไฟ พวกเขาชอบมาก เราก็นั่งดูให้เด็กเล่นไป ก่อนหน้านี้ก็เคยพาไปเขาดิน เด็กๆ พวกนี้ดูแลตัวเองดีมาก ไม่ต้องห่วงเลย เหมือนอย่างตอนนี้นะ เวลามีแขกมาหาครู เขาก็ดูแลกันเองได้ ไม่กวนเรา
“ถ้าเด็กอยากวาดรูป ผมก็เปลี่ยนให้วาดรูป ไม่เคยไปบอกว่าต้องเป็นเส้น เป็นรูปอย่างนั้นอย่างนี้ ให้วาดตามที่เขาคิด อะไรก็สวยหมด อยากวาดอะไรก็วาดไป เรียนภาษาไทย ก็ไม่เคยบอกว่าต้องอ่านออกเขียนได้ขนาดไหน ขอให้อ่านออกและแปลได้ เวลาเด็กแปล อีกา ได้ เรารู้สึกดีมาก บางทีก็ไปรู้ว่าเด็กอ่านได้ จำได้ตอนไปเดินตามในแคมป์ ผ่านห้องเขาแล้วได้ยินเขาท่อง กอ-อา-กา , จอ-อำ-จำ , ลอ-อี-ลี-ลอ-อา-ลา เด็กบางคนยังเล็ก เวลาอยู่ในห้องเขาไม่พูด นั่งฟังเฉยๆ แต่กลับบ้านไป เขาจำไปพูดได้ บางทีก็วัดการเรียนแบบตัวเลขไม่ได้ แต่วัดเป็นความสุข เด็กมีความสุขที่ได้อ่านและเวลามีอาสาสมัครมาสอน ผมก็ไม่เคยบอกว่าเขาต้องสอนวิชาอะไร สอนที่ตัวเองชอบ จะสอนอะไรก็สอน เพราะเราเชื่อว่าทุกคนปราถนาดีต่อเด็ก นักศึกษามาช่วยสอนหลังเลิกเรียน ก็มาสอนตอนหนึ่งทุ่มถึงเที่ยงคืน ทำงานประดิษฐ์ เด็กก็อยู่ถึงเที่ยงคืน เพราะเด็กพวกนี้ พร้อมรับตลอดเวลา…ความน่ารักของเขาคือ เราสอนอะไรเขารับหมด เขาอยากรู้อยากเห็น”
โดยรวมแล้ว แนวการสอนของครูไพโรจน์ไม่มีการกำหนดตายตัว เพราะอยากให้เด็กได้เรียนด้วยความสนุก แต่มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือ ความรู้ที่เขาสอนต้องถูกนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน “ผมคิดว่า เด็กต่างชาติพวกนี้ต้องรู้จักภาษา ถ้ารู้จักภาษาก็ดำรงชีพได้ ต้องรู้จักอ่านเขียนให้มากที่สุด เด็กอนุบาลก็ต้องรู้จักพยัญชนะ หัดผสมคำ ผมสอนแบบให้ท่อง ไม่รู้ถ้าไม่ให้ท่องจะสอนแบบไหน และเด็กพวกนี้ความจำดีมาก ทั้งภาษาหรือว่าสูตรคูณ ก็ท่องได้หมดแล้ว ส่วนเรื่องภาษาก็อยากให้เด็กอ่านป้ายได้ ดูรถเมล์ได้ ไม่หลงทาง เอาตัวรอดได้”
เวลาของคนเป็น “ครูเร่ร่อน”
อาชีพของครูไพโรจน์ จะว่าเหมือนครูทั่วๆ ไปก็เหมือน จะว่าต่างก็ต่างลิบลับ ด้วยวิถีทางที่ครูไพโรจน์เลือกที่จะให้ความรู้กับเด็กต่างชาติที่ติดตามพ่อแม่มาขายแรงงานในไทย โรงเรียนของครูไพโรจน์จึงไม่เป็นหลักแหล่ง แล้วแต่ว่าแคมป์คนงานก่อสร้างจะถูกโยกย้ายไปย่านใด และที่ต้องเตรียมตัวปุบปับชนิดที่รู้ตัว 1 วันก่อนรื้อถอนบ้านพักก็เคยประสบมาแล้ว ทั้งครูและนักเรียนต่างใจหาย แต่ต้องแยกย้ายและเดินทางต่อไปในทางข้างหน้า
ระหว่างทางของความเป็น “ครูเร่ร่อน” ที่คู่กับ “นักเรียนขาจร” เช่นนี้ หากจะมีสิ่งที่ปลาบปลื้มใจอยู่บ้างก็ตรงประโยคที่ครูไพโรจน์เล่าว่า “ทุกวันนี้ที่ภูมิใจ คือ พ่อแม่เด็กต่างชาติพวกนี้ เรียกเราว่า ′ครู′ อย่างเต็มปากทุกคำทุกครั้ง เขาให้เกียรติเรา ความน่ารักและสบายใจอยู่ตรงนี้”
นอกจากนี้ พ่อแม่ของเด็กนักเรียนต่างชาติ ทั้งกัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม ที่เขาเคยเจอเหล่านี้ หากคนใดไม่ไปทำงานที่ไซต์ก่อสร้างก็มักจะมาช่วยทำกับข้าวกลางวันให้เด็กๆ กินร่วมกัน เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้คือ กำลังใจที่ครูไพโรจน์ได้รับ เหนืออื่นใด การทำกับข้าวเพื่อเป็นอาหารกลางวันให้เด็กๆ เหล่านี้ กลับเป็นอีกความรู้ที่ครูไพโรจน์บอกว่าขาดไม่ได้ เพราะเด็กผู้หญิงต่างชาติเหล่านี้ ควรได้เรียนรู้ทักษะเช่นนี้ไว้ เพื่อที่เขาจะได้เอาติดตัวไปเป็นแม่บ้าน ไปสู่วิชาชีพอื่นที่ดีกว่าอยู่ในแคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งสภาพแวดล้อมไม่น่าอภิรมย์นักสำหรับเด็กผู้หญิง
ในห้องเรียน หากไม่มีพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้มาช่วย ครูไพโรจน์นั้นต้องทำเองหมดทุกอย่าง ตั้งแต่ตื่นเช้าไปจ่ายตลาด สอนเด็ก ทำอาหารกลางวันให้เด็ก เก็บกวาดงานแบบภารโรงในตอนเย็น และยังต้องทำบัญชีควบคุมการใช้จ่ายรายปีที่ได้รับมาจากมูลนิธิให้เหมาะสมด้วย หากจะต้องพูดถึงเงินเดือนเมื่อเทียบกับความเสียสละและภาระ คงไม่ต้องเอ่ยให้เหนื่อยใจ
และหากจะต้องพูดถึงเวลางานของ “ครูเร่ร่อน” เช่นครูไพโรจน์ ก็อาจหมายถึงตั้งแต่ตื่นจนหลับ เพราะครูไพโรจน์เห็นว่า การเป็นครูเช่นเขาต้องคลุกคลีกับเด็กๆ เพื่อจะได้รู้ปัญหา เข้าใจธรรมชาติและชีวิตเด็ก และเพื่อทำตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ เขาจึงต้องพักอาศัยอยู่ในแคมป์คนงานก่อสร้าง และด้วยเวลาการเรียนการสอนยืดหยุ่นมากๆ บางครั้งเสาร์-อาทิตย์ หรือดึกดื่นก็ไม่ใช่เวลาส่วนตัว แต่ถูกใช้ไปเพื่อการสอนเด็กๆ
“ชีวิตเรา 5 วันอยู่นี่ เสาร์-อาทิตย์เราก็ยังอยู่ที่นี่ ชีวิตมันก็พันกันอยู่อย่างนี้ ถ้าผมทำแบบองค์กรอื่น เสาร์-อาทิตย์ ผมก็ต้องไปบ้านละ แต่นี่ผมอยู่ที่นี่ พอผมเปิดประตู เด็กก็เข้ามาละ สองวินาทีก็เข้ามาละ บางทีเราก็ต้องผลักเด็กออกไป กว่าจะปิดประตูได้ ออกไปหมดก็เที่ยงแล้ว ถึงบอกว่าเราหยุดเสาร์อาทิตย์นะ แต่เด็กก็มา ก็ให้เล่นไป เล่นไปเล่นมา เอ้า สอนเลยแล้วกัน…บางคืนเราปิดไฟเงียบ เพราะไม่อยากให้เด็กเข้ามา เราอยากพัก ก็ต้องนอนเงียบๆ ไม่กระดุกกระดิก แต่เราก็อดไม่ค่อยได้หรอก ไม่อยากขัดศรัทธาเขาหรอก” ครูไพโรจน์เล่า
การทำงานที่อุทิศมากจนไม่มีเวลาเป็นส่วนตัวเช่นนี้ บางครั้งก็ทำให้ “ครูเร่รอน” ก็ท้ออยู่เช่นกัน “ถ้าอยู่ข้างนอก (แคมป์บ้านพักคนงาน) น่ะท้อ เดินไปเห็นเขามีรถราขับ ก็ท้อ แต่ถ้าอยู่อย่างนี้ เช้ามาก็เห็นเด็ก คุณครูอยากเรียน คุณครูขาจะสอนหรือยัง แล้วผมก็อยากเป็นครู ผมก็อยากสอน และที่จริงใครก็เป็นครูได้นะ ถ้ารู้หนังสือก็สอนคนอื่นได้แล้ว พี่สอนน้องก็มีที่นี่ เด็กที่นี่ไม่เคยบังคับ ให้พักก็มาเรียน จะเรียนให้ได้ แต่เด็กไทยไม่เป็นอย่างนี้ คงไม่มาเรียนแล้ว ไปขับมอไซค์เล่นแล้ว เด็กต่างชาติเล็กๆ ที่นี่นะ พอได้เงินมา ก็เอามาคนละ 1 บาท รวมกันแล้วมาจ้างเด็กโตคนนี้ (ชี้ไปที่เด็กผู้หญิงที่โตที่สุดในชั้นเรียน) ให้สอนภาษาอังกฤษให้ เพราะเด็กโตคนนี้รู้ภาษาอังกฤษ ก็สอนเด็กคนอื่นได้ เด็กพวกนี้ไขว่คว้ามากๆ”
ชาตินิยมในแคมป์คนงานก่อสร้าง
เมื่อถามครูไพโรจน์ว่าเหตุใดห้องเรียนแห่งนี้จึงปราศจากเด็กไทยที่เป็นลูกคนงานก่อสร้าง ครูไพโรจน์เล่าว่า “เด็กไทย(ในบ้านพักคนงานก่อสร้าง) เขาไม่ค่อยมาที่นี่หรอก เขาเห็นว่าที่นี่เป็นแค่ศูนย์เด็กก่อสร้าง ไม่ใช่โรงเรียน เหมือนเป็นที่แค่ให้เด็กมาเล่นมานอนมากิน ยังไงก็ไม่ใช่โรงเรียนเด็กไทยที่นี่พ่อแม่ก็สอนอยู่ในห้องล่ะ เขามีความคิดว่า เขาจะเอาลูกกลับไปเรียนที่บ้านนอก บางทีย้ายแคมป์ไปสองครั้ง ผมก็ยังเห็นเด็กเดินอยู่ในแคมป์อยู่เลย เพราะฉะนั้นเด็กไทยที่อยู่ในแคมป์ก่อสร้างก็จะเรียนช้ามาก”
ครูไพโรจน์เล่าบรรยากาศในแคมป์คนงานก่อสร้างถึงการเหยียดเชื้อชาติว่า “คนไทยชอบรังเกียจพม่าเขมร ไม่รู้ทำไม ตัวเองยังไม่อาบน้ำแต่ไปเหม็นสาบเขา ทั้งที่เขาสะอาดเรียบร้อย มีคนเอาเสื้อผ้ามาบริจาค เขมรพม่าเขาซักมาใส่ก็สะอาดดูดี คนงานไทยก็จะบอกว่าอุ๊ย! ของเก่า ไม่เอาหรอก ไปซื้อใหม่ที่ตลาดนัด เป็นแบบนี้ล่ะ ที่มาสอนทุกวันนี้ ก็สอนเด็กต่างชาตินะ ไม่ได้สอนเด็กไทย เพราะเขาไม่มาเรียนหรอก
“แม่เด็กๆ ที่เป็นต่างชาติที่ไม่ได้ทำงานจะมาช่วยในห้องเรียนอยู่ตลอด บางทีมาช่วยทำกับข้าวตอนกลางวันให้เด็กๆ เมื่อวานเขาช่วยกันตำส้มตำ เด็กๆ ก็ชอบ ส่วนคนไทยนะ พูดว่า อุ๊ย! ส้มตำเขมรทำเหม็นสาบ”
สาวไทยฮิตจีบคนงานต่างชาติ
ระยะเวลากว่า 7 ปี ที่ครูไพโรจน์ทำงานสอนเด็กต่างชาติในบริเวณบ้านพักคนงานก่อสร้าง ครูไพโรจน์ได้สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ทั้งน่าสนใจและน่าแปลกใจของยุคสมัยในสังคมที่ตนคลุกคลี และปรากฏการณ์นั้นคือ เขาเห็นว่าเด็กสาวไทยนิยมมาจีบเด็กหนุ่มคนงานก่อสร้างต่างชาติ
“ที่เห็นอีกอย่างคือ เด็กนักเรียนไทยผู้หญิงเหมือนจะฮิตมาหา มาพัวพันหนุ่มที่ทำงานก่อสร้าง ผมสังเกตเห็นโดยไม่ได้พูดแบบใส่ร้ายนะ ไม่รู้เป็นวัฒนธรรมใหม่หรือเปล่า เหมือนว่า เขาเป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนตามสถาบันที่ดี ไม่ได้มีแฟนเป็นฝรั่ง เขาก็มาหาแฟนที่เป็นต่างชาติ เป็นพม่า เป็นเขมร ซึ่งแบบนี้ก็ได้ เขาคงอยากควงหนุ่มต่างชาติ ซึ่งผมมาเห็นปีนี้ชัดมาก เหมือนเด็กๆ เขาอวดๆ กัน ชั้นมีแฟนเป็นต่างชาติ(ฝรั่ง) ชั้นมีแฟนอยู่ศิลปากร เด็กพวกนี้ก็ชั้นมีแฟนเป็นเขมรนะ พม่านะ ลองไปเปิดดูอินสตาแกรมได้เลย เขาถ่ายรูปคู่ๆ กัน ผมเห็นแล้ว มองดูรู้ว่านั่งด้วยกันคนไหนไทย คนไหนเขมร โอ้ วันนั้น ผมเปิดดูยังตกใจ
“ผมปรามๆ เด็กๆ เหมือนกัน เพราะเด็กต่างชาติวัยรุ่นพวกนี้ ถ้าไปละเมิดคนไทยก็มีโอกาสติดคุกได้ ผมต้องบอกระวังนะ ติดคุกนะ มีอะไรบอกครูนะ ถ้าครูจะช่วยได้ ไม่บอกระวังคุกนะ ผมบอกว่า หนุ่มๆ เอ้ย ถ้าไม่ทำงาน มาที่นี่นะ บางทีเด็กเขมรต้องล็อกห้อง ส่วนสาวไทยเดินป้วนเปี้ยนอยู่ตามห้องนั่นแหละ ผมยัง โอ้โห เคยเห็นแต่สาวถูกล็อกมาก่อนน่ะนะ และหน้าต่างเนี่ยถ้าไม่ปิด ก็ปีนเข้าเลยนะ”
ความหวังของครู
เวลาผ่านไปกว่า 7 ปี ครูไพโรจน์สอนเด็กในแคมป์คนงานก่อสร้าง ต่อสู้จนมีโรงเรียนขึ้นเป็นสัดส่วน แต่ไม่มีใครบอกได้ถึงอนาคตข้างหน้า ว่าจะยังมีโครงการเช่นนี้ไปอีกนานแค่ไหน และความหวังของครูเช่นเขาก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
“มีความหวังน่าจะเกิดศูนย์เด็ก (โรงเรียนในแคมป์คนงานก่อสร้าง) อย่างนี้เยอะๆ ใครมีอำนาจ มีเงิน เข้ามาทำเถอะเป็นเงินไม่กี่บาทหรอก ที่ไหนมีคนงาน 300-400 คน จะมีเด็ก 40-50 คนขึ้นไป ก็ควรมีศูนย์โรงเรียนอย่างนี้ หากผู้รับเหมาเห็นความสำคัญด้วยอย่างที่นี่ก็ยิ่งเป็นเรื่องดี อย่างน้อยเราก็ได้ดูแล ให้ความสำคัญ เพราะพ่อแม่เขาก็มาทำตึก ทำทางรถไฟ ทำให้ที่นี่เจริญก้าวหน้า ลูกหลานของเขาเหล่านี้ก็เติบโตที่นี่ล่ะ ยังไงก็ต้องกินอยู่ที่นี่ เหมือนเป็นพลเมืองของบ้านเราด้วย ถือว่าเป็นสวัสดิการเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำให้เขาได้”
ขอขอบคุณ Sanook