ทุกๆ 9 โมงเช้า หลังจากเดินดูกิจการภายในโรงงาน “ศิลาดล” และเซ็นเอกสารเป็นที่เรียบร้อย “ทัศนีย์ ยะจา” เจ้าของกิจการ “เชียงใหม่ ศิลาดล @ ดอยสะเก็ด” จะต้องมานั่งห่อข้าวต้มมัดภายในบ้านเรือนไทยล้านนาหลังงาม ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงงาน “เชียงใหม่ ศิลาดล @ ดอยสะเก็ด” บนเนื้อที่ราว 10 ไร่ เพื่อทำตามออร์เดอร์ที่มีเข้ามาวันละราว 100 มัด
การแบ่งเวลาส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจในแต่ละวันเพื่อมานั่งห่อข้าวต้มมัดนั้น เป็นเพียงงานอดิเรก ที่ “ทัศนีย์” ทำด้วยใจรัก และสามารถทำควบคู่ไปพร้อม ๆ กับธุรกิจได้อย่างไม่บกพร่อง
ทัศนีย์ จัดเป็นผู้หญิงเก่ง เป็นที่รู้จักในแวดวงสังคมของเมืองเชียงใหม่ ด้วยบุคลิกที่มั่นใจและจิตใจดี และการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยผ้าไทยพื้นเมือง เป็น “Celeb” แถวหน้าที่ได้รับเชิญออกงานสังคมอยู่บ่อยครั้ง
เมื่อครั้งสมัยเป็นเด็กได้คลุกคลีอยู่กับครอบครัว ซึ่งพ่อแม่ได้ปลูกฝังเรื่องการทำบุญและยึดในวิถีประเพณีและวัฒนธรรมล้านนา โดยงานบุญทั้งเข้าพรรษา ออกพรรษา สงกรานต์ คนเมืองล้านนาจะทำข้าวต้มมัดไปทำบุญ และตนได้มีส่วนช่วยเหลือพ่อแม่เล็ก ๆ น้อย เช่น การไปตัดใบตองในสวนหลังบ้าน เช็ดใบตอง ขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายขูดมะพร้าว ทำให้ได้ซึมซับการทำข้าวต้มมัดมาแต่บัดนั้น
“พี่เริ่มห่อข้าวต้มมัดมาตั้งแต่ปี 2540 ตอนนั้นห่อเพื่อนำไปทำบุญ และแจกให้ญาติมิตรและคนรู้จัก เวลาไปทำบุญที่ไหนพี่ก็จะเอาข้าวต้มมัดไปทำบุญเลี้ยงพระ เป็นของฝากให้เพื่อน ๆ ลองผิดลองถูกมาเรื่อย ๆ ทำแรก ๆ ข้าวแฉะ นึ่งไม่สุกบ้าง ก็เลยถามสูตรจากพ่อแม่ และนำมาปรับประยุกต์ ซึ่งใช้เวลา 5 ปีกว่าสูตรจะลงตัวถึงทุกวันนี้ การทำข้าวต้มมัดต้องใจถึง ไม่หวงเครื่อง วัตถุดิบทุกอย่างต้องเข้มข้นและมีคุณภาพ ข้าวต้อมัดจึงจะอร่อย”
“วัตถุดิบที่ใช้ทำข้าวต้มมัด เราก็ซื้อจากชาวบ้านในอำเภอดอยสะเก็ด ในละแวกใกล้เคียง ทั้งใบตอง กล้วย กะทิ ชาวบ้านเขาก็เอามาส่งเรา คนในชุมชนก็มีรายได้ไปด้วย เป็นการเกื้อกูลกัน”
ความลงตัวของสูตรข้าวต้มมัดที่ “ทัศนีย์” ลองผิดลองถูกมานานถึง 5 ปี มีส่วนผสมที่เจ้าของสูตรไม่เคยหวง ประกอบด้วย ข้าวเหนียวเขี้ยวงู (ข้าวเก่า) กะทิ (เฉพาะหัวกะทิ ไม่ผสมน้ำ) น้ำตาล เกลือ กล้วยน้ำว้า แต่ที่แตกต่างกว่าที่ไหน ๆ ก็คือ จะมีส่วนผสมของถั่วแดงจากโครงการหลวง และงาขี้ม้อน (งาของทางภาคเหนือ ที่จะออกผลผลิตเพียงช่วงฤดูหนาว) ส่วนใบตองที่ใช้ห่อ จะต้องเป็นใบตองอ่อนของกล้วยน้ำว้าเท่านั้น
สำหรับขั้นตอนการทำข้าวต้มมัด ต้องแช่ข้าวเหนียวราว 1 ชั่วโมง, เคี่ยวกะทิ (ไม่ให้แตกมัน) เคี่ยวจนเดือด จากนั้นเอาข้าวเหนียวมาผัดกับกะทิให้เข้ากัน ใส่น้ำตาล และใส่เกลือ โดยข้าวเหนียว 6 ลิตร จะใช้กะทิ 6 กิโลกรัมและน้ำตาล 3 กิโลกรัม โดยใช้เวลานึ่งราว 2 ชั่วโมง
ทัศนีย์ บอกว่า ไม่เคยคิดทำข้าวต้มมัดขาย แต่คนที่ได้ชิมแล้ว ก็จะเริ่มถามถึงและออร์เดอร์เข้ามาแบบปากต่อปาก จึงเริ่มทำข้าวต้มมัดแบบจริงจังตามออร์เดอร์ ซึ่งทำขายมาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว โดยจะใช้เวลาในการห่อข้าวต้มมัดในช่วงเช้าถึงประมาณเที่ยงวัน หลังจากนั้นตลอดช่วงบ่ายจะให้เวลากับธุรกิจศิลาดล ทั้งการรับแขกและรับลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมโรงงานและออร์เดอร์สินค้า
โดยทุก ๆ วันมีออร์เดอร์ข้าวต้มมัดเฉลี่ยวันละราว 50 – 100 มัด ซึ่งต้องสั่งล่วงหน้ามาก่อน 3 – 5 วัน ซึ่งเคยห่อมากที่สุดวันละ 250 มัด ราคาขายมัดละ 40 บาท มีทั้งออร์เดอร์จากในเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หมุนเวียนกันทุกวัน โดยปัจจุบันทำแบรนด์ติดอยู่ที่ห่อข้าวต้มมัดด้วย ภายใต้แบรนด์ “ข้าวต้มมัดเสวย เชียงใหม่ ศิลาดล”
ซึ่งการติดแบรนด์ก็ไม่ใช่เพื่อการทำตลาดหรือต้องการยกระดับสินค้าให้โด่งดัง แต่ต้องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการสั่งซื้อเท่านั้น เพราะตนอยากให้คนที่ชอบรับประทานข้าวต้มมัดได้มีโอกาสลองชิมเท่านั้น
“พี่เคยได้มีโอกาสนำข้าวต้มมัดถวายแด่สมเด็จพระเทพฯ เมื่อครั้งพระองค์ท่านเสด็จมาเชียงใหม่เมื่อหลายปีก่อน ท่านเสวยแล้วบอกว่าเป็นข้าวต้มมัดที่อร่อยที่สุดในโลก พี่รู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างมาก จึงเป็นที่มาของแบรนด์ข้าวต้มมัดเสวย เชียงใหม่ ศิลาดล”
ทัศนีย์ บอกว่า รายได้ที่ได้มาจากการขายข้าวต้มมัด จะเก็บใส่ออมสินไว้ ซึ่งตนมีความตั้งใจว่าเมื่อครบปีในแต่ละปีจะนำเงินทั้งหมดไปทำบุญ หรืออาจตั้งเป็นกองทุน และตั้งใจว่าจะทำข้าวต้มมัดเป็นหลัก แต่จะทำเท่าที่ทำได้ตามกำลังที่มี ไม่คิดทำให้ใหญ่โตไปมากกว่านี้
เป็นข้าวต้มมัดแห่งความสุข ที่เจ้าของทำด้วยรอยยิ้ม ด้วยใจ….ได้ลองชิมหลายมัดแล้ว คอนเฟิร์มว่า อร่อยที่สุดในโลกจริงๆ
ที่มา http://www.matichon.co.th/