จับหมอเถื่อนใช้วุฒิบัตรปลอม ตั้งคลินิกหลอกคนทำสวย

 news-403

ดีเอสไอ จับหมอเถื่อนเปิดสถานเสริมความงามย่านรามอินทรา โดยใช้วุฒิบัตรปลอมโดยหลอกมาจริงมาสมัครงานที่คลินิกเพื่อทำเอกสารปลอม

กรมสอบสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายแพทย์ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ น.ต.บุญเรืองไตร เรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผบ.สำนักคดีความมั่นคง ดีเอสไอ นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา นายกแพทยสภา และนายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา ร่วมกันแถลงข่าวผลการจับกุม น.ส.ณัฐชานันท์ หรือ แนน พิทักษ์ชัยกร อายุ 22 ปี หมอเถื่อนซึ่งแอบอ้างตัวเป็นแพทย์เสริมความงาม และเปิดคลินิกเถื่อนย่านรามอินทรา จนมีผู้หลงเชื่อเข้ามาทำการรักษาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเป็นขบวนการจัดทำปริญญาและวุฒิบัตรแพทย์เถื่อน

สืบเนื่องจากดีเอสไอร่วมกับแพทยสภาได้ทำการสืบสวนเรื่องดังกล่าวเป็น ระยะเวลา 1-2 เดือน จนทราบว่า น.ส.ณัฐชานันท์ หรือ แนน พิทักษ์ชัยกร อายุ 22 ปี นศ.มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งได้โพสต์ข้อความลงเว็บไซต์ต่างๆ และเฟซบุ๊ก อ้างตัวเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเสริมความงาม ทั้งที่ไม่ได้เป็นแพทย์จริงซึ่งมีการใช้ใบปริญญาบัตร และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพปลอมเป็นหลักฐานในการสร้างความน่าเชื่อถือ และยังมีการเปิดคลินิกด้านความงามโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ดีเอสไอจึงส่งเจ้าหน้าที่แฝงตัวเข้าไปสืบหาความจริงโดยปลอมตัวเข้าไปเป็นผู้ เข้ารับบริการฉีดโบท๊อกซ์ พร้อมทำการบันทึกภาพเอาไว้ และเก็บหลักฐานกระแสการเงินอื่นๆ อีกมากมายที่ประกอบการกระทำความผิด ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมาทางกระทรวงยุติธรรม โดยดีเอสไอและกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รวมทั้งแพทยสภา ได้นำหมายค้นศาลอาญาที่ 352/2556 เข้าทำการตรวจค้นคลินิก ชื่อ Pulchala Clinic เลขที่18/97 หมู่บ้านเดอะเทอเรซ์ ซ.รามอินทรา 65 ถ.รามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขต กทม.ซึ่งเป็นสถานที่ผู้ต้องหาได้เช่าไว้เพื่อทำการเปิดคลินิกเถื่อน

จากการตรวจค้นคลินิกดังกล่าวพบเอกสารเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาแพทย์ปลอม ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม บัตรประชาชนปลอม และเอกสารปลอมอื่นๆ อีกมากมาย

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับการประสานงานจากกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับคลินิกเสริมความงามเถื่อน เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ทำการสืบค้นข้อมูลจากทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก กระทั่งมีการติดต่อกับผู้ต้องหาผ่านโปรแกรมแชต หรือไลน์ ได้เห็นรูป ต่อมาเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจึงปลอมตัวเข้าไปทำการรักษาโดยการฉีดโบท็อกซ์ ในราคา 9,000 บาท กระทั่งแน่ใจว่ามีกระทำผิดวิชาชีพเวชกรรม จากนนั้นได้มีการตรวจสอบวุฒิบัตรแพทย์ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมและบัตรประชาชน พบว่าเป็นเอกสารปลอมซึ่งเป็นการปลอมขึ้นมาด้วยวิธีการเอาข้อมูลจากแพทย์ที่ ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องที่มาสมัครงานมาทำ ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ดีเอสไอจะทำการสืบสวนขยายผลหาขบวนการที่ทำเอกสารปลอมขึ้นมา

ผบ.สำนักคดีความมั่นคง กล่าวอีกว่า จากการสอบปากคำผู้ต้องหาเบื้องต้นให้การรับสารภาพว่า ก่อนจะมาทำคลินิกเถื่อนผู้ต้องหาขณะนั้นมีอายุเพียง 18 ปี ได้เรียนรู้วิธีการเสริมความงามจากรุ่นพี่ กระทั่งมาเปิดคลินิกเองและในชั้นสอบสวนทราบว่าผู้ต้องหาทำมานานกว่า 2 เดือน ทั้งนี้ได้แจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบ คอมพิวเตอร์โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ รวมไปถึงข้อหาฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1), (5) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268, 341 และ 343 โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง

ด้านผู้เสียหายจากการกระทำของผู้ต้องหา (ขอสงวนนาม)กล่าวว่า ตนต้องการหางานทำพิเศษเพื่อเพิ่มรายได้ จึงเข้าไปในกระทู้การสมัครงาน และพบข้อความที่ผู้ต้องหาระบุว่าต้องการรับสมัครแพทย์ ตนจึงติดต่อไป จากนั้น น.ส.ณัฐชานันท์ ได้นัดให้ตนมาพบที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยให้นำเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพแพทย์ อาทิ ใบปริญญา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม มาให้ ต่อมาประมาณ 2 สัปดาห์ ได้มีเพื่อนของตนโทรมาแจ้งให้ทราบว่ามีคนโพสต์ข้อความว่ารับทำวุฒิบัตรปลอม ซึ่งมีการเอาชื่อและหลักฐานที่ตนเคยไปมอบให้กับผู้ต้องหาเพื่อสมัครงานไป โพสต์

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายกแพทยสภา ได้มีการหารือร่วมกันเพื่อให้มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและปราบ ปรามการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยได้จัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันปราบปรามมาตรฐานการให้บริการทางด้านสาธารณสุขที่ ชัดเจน ซึ่งจะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติงานร่วมกัน 3 หน่วยงาน มีการเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างใกล้ชิด และให้มีการสนธิกำลังในการปฏิบัติงานร่วมกัน นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการป้องกันและปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับสถานพยาบาลหรือแพทย์ที่ไม่มีใบอนุญาต และวิธีการรักษาพยาบาลที่เป็นอันตรายต่อประชาชน โดยศูนย์ตั้งอยู่ที่สำนักคดีความมั่นคง ดีเอสไอ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารรัฐประสาศนภักดี ชั้น 8 โทร.(090) 1231230 ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหน่วยงานหรือบุคลากรที่ให้บริการ ให้แจ้งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทร.(02) 5901997 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือกรณีที่ต้องการตรวจสอบรายชื่อของแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องสามารถ เข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของแพทยสภา www.tmc.or.th

ขอบคุณที่มา www.manager.co.th

เครดิตตามภาพ

เรื่องน่าสนใจ