กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติลงพื้นที่ตรวจสอบการประเมินผู้ป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาลเอกชน หลังญาติสงสัยว่าผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ตาม นโยบาย UCEP แต่ถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล

จากกรณี ที่มีการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อโซเชียลถึงหญิงรายหนึ่งเข้ารับการรักษาพยาบาลกับ รพ.เอกชน ด้วยอาการปวดศีรษะซึ่งภายหลังพบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอาการเลือดออกในสมอง และเมื่อการรักษาเสร็จสิ้นทาง รพ.เอกชนได้เรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลกับผู้ป่วย โดยอ้างว่าอาการของผู้ป่วยไม่เข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ตามตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) นั้น

วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2561) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นกรมสบส.พร้อมด้วยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 2 ประเด็น คือ 1) การตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลดังกล่าวว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

โดยกรม สบส.ได้ทำการตรวจสอบเวชระเบียน และเอกสารทางการแพทย์ตั้งแต่การรับผู้ป่วยเข้ารักษา จนถึงการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น 2) การประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือไม่ ซึ่งโรงพยาบาลได้มอบข้อมูลให้ และ สพฉ.จะนำเข้าคณะกรรมการตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียนดำเนินการวินิจฉัยโดยเร็ว

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยเพื่อรับบริการตามนโยบาย UCEP แก่ประชาชน ขอให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของ สพฉ.เป็นหลักในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วย หากผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) สถานพยาบาลต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ โดยห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรกแต่อย่างใด แต่หากผู้ป่วยมิได้มีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง)

ซึ่งอาจจอยู่ในเกณฑ์สีเหลืองหรือสีเขียวก็ควรจะมีการสื่อสารสอบถามสิทธิในการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยหรือญาติเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด และหากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ผ่านสายด่วน 02 872 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ยึดคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเป็นที่สุด

ทั้งนี้ อาการเจ็บป่วยที่สามารถใช้สิทธิยูเซปตามเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ของ สพฉ.แบ่งเป็น 6 อาการ ได้แก่

  1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
  3. มีอาการซึม เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
  4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
  5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด หรือชักต่อเนื่อง และ
  6. มีอาการที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต หรือระบบสมอง

หากประชาชนพบผู้ที่มีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่งใน 6 อาการข้างต้นอย่ารอช้าให้รีบติดต่อสายด่วน 1669 ของ สพฉ.เพื่อส่งตัวไปไปรับการรักษาในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยทันที

ป้ายกำกับ: |

เรื่องน่าสนใจ