เนื้อหาโดย Dodeden.com

เพราะผู้หญิงเราเกิดมาพร้อมกับรังไข่ที่มีอยู่ 2 ข้างบริเวณปีกมดลูก ซึ่งเปรียบเสมือนอวัยวะล้ำค่าที่มีหน้าที่หลักในการผลิตไข่ในแต่ละเดือน เพื่อรอการผสมกับอสุจิแล้วพัฒนากลายเป็นตัวอ่อน ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสม ก็จะถูกขับออกมากลายเป็นประจําเดือน และอีกหน้าที่หนึ่งของรังไข่ คือการผลิตฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน) ทําให้มีลักษณะของความเป็นหญิงที่แตกต่างจากความเป็นชาย เช่น สะโพกผาย มีหน้าอก น้ำเสียงเล็กแหลม เป็นต้น เมื่อรังไข่ยังแข็งแรงดี ก็จะสามารถทํางานได้อย่างเป็นปกติ แต่หากวันใดที่เกิดความผิดปกติขึ้นภายใน เราจะรู้ตัวได้อย่างไรว่ามันคือเนื้องอกหรือมะเร็งร้าย?

เนื้องอกของรังไข่มีทั้งชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งและมะเร็ง ซึ่งมะเร็งรังไข่ก็มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีความรุนแรงและการพยากรณ์โรคที่แตกต่างกันไป สําหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งรังไข่นั้น ในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการใดๆ แต่อาจแสดงอาการบางอย่างให้เห็นบ้าง เช่น รู้สึกอึดอัดแน่นท้อง อาการจะเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อเป็นในระยะหลังๆ เช่น คลําเจอก้อน หรือน้ำในท้อง เนื่องจากมะเร็งรังไข่มีจุดเริ่มต้นที่มะเร็ง ไม่ได้เริ่มต้นจากการติดเชื้อหรือเริ่มจากระยะก่อนเป็นมะเร็งเช่นเดียวกับมะเร็งทางนรีเวชอื่นๆ อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการตรวจคัดกรองมะเร็งที่มีประสิทธิภาพเหมือนมะเร็งปากมดลูก

ใครคือกลุ่มเสี่ยงของมะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่เป็น 1 ใน 10 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง และสูงเป็นอันดับที่ 6 รองลงมาจากมะเร็งเต้านม, มะเร็งลําไส้ใหญ่, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งปอด และมะเร็งตับ ซึ่งแม้จะพบเป็นจํานวนประปราย หากแต่ความน่ากลัวของมะเร็งรังไข่คือมีอัตราของการเสียชีวิตมากที่สุดของมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์ผู้หญิง เนื่องจากผู้ป่วยมักมาพบแพทย์หลังมีอาการของโรคที่ลุกลามรุนแรงแล้ว มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่าอายุน้อย หากคุณเป็นสาววัย 30 ปีขึ้นไป ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ยังเกี่ยวกับฮอร์โมนด้วย เช่น ผู้หญิงที่มีประจําเดือนเร็วก่อนอายุ 12 ปี และเข้าสู่วัยหมดประจําเดือนช้า คือหลังอายุ 50 ปี รวมทั้งการไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกหลังจากอายุ 30 ปี ก็ถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่า อย่างไรก็ตาม ยังพบด้วยว่าพันธุกรรมหรือยีนก็มีส่วนสัมพันธ์กับมะเร็งด้วย เพราะฉะนั้น หากเคยมีประวัติโรคมะเร็งดังกล่าวในครอบครัว ก็มีความเสี่ยงที่จะมียีนดังกล่าว และเพิ่มโอกาสในการเป็นมากขึ้น

หลีกเลี่ยงอย่างไรให้ไกลจากโรคร้าย
จะว่าไปแล้ว ปัจจัยภายในที่ทําให้เกิดมะเร็งร้าย ล้วนเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ยาก แต่สิ่งที่เราพอจะทําได้นั้น คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงภายนอก ที่อาจทําให้เกิดมะเร็งรังไข่ขึ้นได้ เช่น การสูบบุหรี่ ซึ่งในทางการแพทย์ระบุว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งด้วยเช่นกัน จากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติยังพบว่า การกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีไขมันสัตว์สูง มีส่วนสัมพันธ์กับการพัฒนาไปสู่มะเร็งรังไข่ รวมทั้งอาหารในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก ซึ่งอุดมไปด้วยไขมันสูง ก็มีอัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่สูงกว่าในประเทศเกษตรกรรมด้วย นอกจากนี้ งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า การใช้แป้งฝุ่นบริเวณจุดซ่อนเร้น อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ได้เช่นกัน เนื่องจากในอดีตพบว่าแป้งฝุ่นมีการเจือปนด้วยแร่ใยหิน

จริงๆ แล้ว หลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบัน เรายังไม่ทราบกลไกการเกิดมะเร็งรังไข่ที่ชัดเจนนัก แต่สมมติฐานหนึ่งที่เกี่ยวกับมะเร็งรังไข่ก็คือการตกไข่ซ้ำๆ ทําให้เกิดบาดแผลที่ผิวรังไข่ เซลล์อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้น ปัจจัยใดๆ ก็ตามที่ทําให้ไม่มีการตกไข่ซ้ำๆ เช่น มีบุตร กินยาคุมกําเนิด ให้นมบุตร ก็มีหลักฐานว่าช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ แต่ปัจจุบันเราไม่ได้แนะนําให้ผู้หญิงมีบุตร หรือกินยาเม็ดคุมกําเนิดเพื่อป้องกันมะเร็งรังไข่ แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ ควรมีการตรวจภายในร่วมกับการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนล่างเป็นระยะๆ พร้อมกับการเจาะเลือดตรวจค่ามะเร็ง ซึ่งหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์จะได้ให้การรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

แนวทางการรักษาในปัจจุบัน
การรักษามะเร็งรังไข่ในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค ความพร้อมของผู้ป่วย และความต้องการมีบุตร หากเป็นระยะแรกๆ การรักษาหลักคือการผ่าตัด ซึ่งจะตัดมดลูกหรือรังไข่มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความต้องการมีบุตรในอนาคต ส่วนการรักษาร่วมโดยให้ยาเคมีบําบัดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและระยะของโรค แต่หากพบว่าเป็นโรคในระยะหลัง การรักษาหลักคือผ่าตัดเอาเนื้อมะเร็งออกให้ได้มากที่สุด ส่วนการให้ยาเคมีบําบัดก่อนหรือหลังการผ่าตัด และจํานวนครั้งของยาเคมีบําบัด ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ป่วยและการตอบสนองต่อยาด้วย

อย่ารอให้ถึงวันที่สายเกินแก้ แล้วค่อยกลับมาเห็นคุณค่าของร่างกาย อย่างน้อยการตรวจสุขภาพเป็นประจําทุกปี จะช่วยให้เรารู้ตัวได้เร็วและไม่ประมาทกับการใช้ชีวิตจนเกินไปนัก 

เรื่องน่าสนใจ