ที่มา: https://dodeden.com

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม และเป็นประธานในการประชุมหารือความร่วมมือการพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิต จิตเวชและยาเสพติด ระหว่างรพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ และรพ.แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

นำโดย แพทย์หญิงพาสุก  คำมนีทอง  รองสาธารณสุขแขวงคำม่วน และ นายแพทย์แสงทอง  เสิมลัมวัน  รองผู้อำนวยการรพ.แขวงคำม่วน พร้อมคณะ  ภายใต้กรอบความร่วมมือตามกฎหมายการสาธารณสุขระหว่างประเทศ   ( International Health Regulation : IHR )

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้วางแผนการจัดบริการดูแลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนที่มีปัญหาสุขภาพจิต รองรับการพัฒนาจังหวัดชายแดนคือ นครพนม  หนองคาย และมุกดาหาร ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ  คาดการณ์ว่าอาจมีปัญหาสุขภาพจิตจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน การแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด และปัญหาจากยาเสพติดซึ่งเป็นสาเหตุ ทำให้เกิดโรคจิตเวชเพิ่มขึ้นและมีความรุนแรงกว่าโรคจิตเวชทั่วไปหลายเท่าตัว

จึงมีนโยบายพัฒนาให้ รพ.จิตเวชนครพนมฯ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคทางจิตเวชทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และพัฒนาความเชี่ยวชาญการรักษาโรคจิตเวชที่เกิดจากการใช้สารเสพติด (Addictive Psychiatry) เพื่อสร้างมาตรฐานการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และขยายผลใช้ทั่วประเทศ

พร้อมทั้งเป็นศูนย์วิชาการด้านนี้ในกลุ่ม 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ( Greater Mekhong Sub – region :GMS) ได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า และมณฑลยูนนานของจีน ซึ่งมีลักษณะการแพร่ระบาดของปัญหานี้ใกล้เคียงกัน

ในการประชุมหารือครั้งนี้มีประเด็นสำคัญในการเสริมศักยภาพการพัฒนาเมืองชายแดน 2 ประเด็นหลัก คือ การพัฒนาด้านวิชาการ โดยรพ.แขวงคำม่วน สปป.ลาว มีแผนจะส่งบุคลากรทางการแพทย์มาฝึกอบรมด้านสุขภาพจิต จิตเวชและยาเสพติด  ที่รพ.จิตเวชนครพนมฯ และความร่วมมือในการพัฒนาระบบบริการข้ามพรมแดน

โดยเฉพาะระบบการส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชที่มีภาวะฉุกเฉินซึ่งจะบูรณาการเพิ่มเติมในระบบการส่งต่อผู้ป่วยทางกายที่มีอยู่เดิมระหว่าง รพ.แขวงคำม่วนกับรพ.นครพนม เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือเร่งด่วนโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยให้ รพ.จิตเวชนครพนมฯ เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชทั้งคนไทยและลาวภายในปีงบประมาณ 2561

ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยของ สปป.ลาว ที่มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการใกล้บ้าน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับบริการที่ฝั่งไทย และหากมีความจำเป็นด้านศักยภาพการให้บริการ ก็มีระบบส่งต่อที่มีคุณภาพมาตรฐานรองรับ  เป็นการก้าวสู่การขยายความร่วมมือ และยกระดับเครือข่ายการดำเนินงานด้านจิตเวช โดยเฉพาะด้านจิตเวชสารเสพติดสู่ระดับอาเซียน ต่อไป

ด้านนายแพทย์กิตต์กวี  โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์  กล่าวว่า การข้ามพรมแดนมารับบริการที่รพ.จิตเวชนครพนมฯของผู้ป่วยจาก สปป.ลาว ที่ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเภทผู้ป่วยนอกเพิ่มจาก 1,601 คน ในปี 2557 เป็น 1,878 คน ในปี 2560 หรือประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมดในแต่ละปี

ส่วนประเภทผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นจาก 11 คน เป็น 21 คน ในช่วงเดียวกัน หรือประมาณร้อยละ1ของผู้ป่วยในทั้งหมดในแต่ละปี กลุ่มโรคที่พบมากที่สุด คือ   โรคจิตเภท ( Schizophrenia ) โรคซึมเศร้า ( Depression )  กลุ่มความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารเสพติดและสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท  เช่นยาบ้า กัญชา

ในส่วนของคนไทย  พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดมาจากการใช้สารเสพติด ในรอบ 4 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 12  จากในปี 2557  มีจำนวน 3,360 คน เพิ่มเป็น 3,801 คน

ในปี 2560 ประมาณร้อยละ 90 เป็นกลุ่มยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีน ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายสมองและเกิดอาการทางจิตอย่างถาวร  ในการรักษาผู้ป่วยประเภทนี้ใช้ทั้งยาควบคุมอาการและพัฒนาการบริการเฉพาะโรค

ได้แก่ คลินิกรักษาแบบจิตสังคมบำบัดซึ่งจะฟื้นฟูในด้านการปรับตัวการใช้ชีวิตในสังคม  และการบำบัดโดยใช้สติเป็นฐานเพื่อสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ ลดการเสพซ้ำ  ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยควบคู่ไปด้วยเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ผลการวิจัยเบื้องต้น พบว่าผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการวิจัยครบตามโปรมแกรม มีภาวะอารมณ์เศร้า โกรธ เครียด ลดลง ในขณะที่ระดับสติปัญญาเพิ่มขึ้น และที่สำคัญสามารถลดการกลับไปเสพซ้ำภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล

นอกจากนี้รพ.จิตเวชนครพนมฯ ยังได้พัฒนาระบบบริการเพื่อรองรับผู้ป่วยต่างชาติ ทั้งจาก สปป.ลาวและประเทศกลุ่มอาเซียน โดยมีป้ายแนะนำการบริการเป็นทั้งภาษาไทย  ลาว และอังกฤษ และใช้ระบบบาร์โค้ดที่ซองยา ประชาชนสามารถ    แสกนชื่อยาได้ทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพื่อทำความเข้าใจตัวยา ผลในการรักษา และการกินที่ถูกวิธี ซึ่งจะสามารถควบคุมอาการของผู้ป่วยได้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ทั้งนี้ในส่วนของแขวงคำม่วน สปป.ลาว มีทั้งหมด 10 เมือง ประชากร 3 แสนกว่าคน   โดยรพ.แขวงคำม่วน เป็นโรงพยาบาลขนาด 150 เตียง แบ่งเป็น 25 สาขาย่อย มีแพทย์เฉพาะทาง 15 คน แพทย์ทั่วไป 18 คน และบุคลากรสหวิชาชีพอื่นๆ จำนวน 229 คน ผู้รับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 200 คน  มีบริการคลินิกจิตเวช

ซึ่งมี อายุรแพทย์ประจำคลินิก 1 คน และพยาบาลที่ผ่านการอบรมด้านจิตเวช 1 คน เปิดให้บริการทุกวัน มีผู้รับบริการแบบผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 2-3 คน รับไว้รักษาแบบผู้ป่วยในที่แผนกอายุรกรรมเฉลี่ยเดือนละ 1-2 คน  โรคที่พบมากที่สุดคือ โรคจิตเภท    รองลงมาคือ โรคซึมเศร้า  โรควิตกกังวล    และลมบ้าหมู  

เรื่องน่าสนใจ