ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  การจัดงานมหกรรมสุขภาพอาเซียน ครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมืองไทย ได้ปิดฉากอย่างงดงาม ที่โต้โผใหญ่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พฤษภาคม 2560 ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี โดย นายแพทย์จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หรือ หมอต้อม  รองผู้อำนวยการ ด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย 

ทั้งนี้ ได้เชิญ หมอพื้นบ้าน 7 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า อินโดนีเชีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย และ อีก 2 ประเทศ จากเอเชียใต้ได้แก่ อินเดีย และศรีลังกา ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ การรักษาดูแลสุขภาพแผนโบราณ เพื่อรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไม่ให้สูญหาย

การจัดงานตลอด 6 วันที่ผ่านมาถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญ และถือเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เครือข่ายหมอพื้นบ้านอาเซียน ที่ได้รวมพลังกันเพื่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวให้ เห็นความสำคัญของการรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คงอยู่ชั่วลูกสืบหลาน

แต่ละประเทศได้แบ่งปันประสบการณ์ในการรักษากันอย่างน่าสนใจ อาทิ หมอพื้นบ้านจากกัมพูชา ได้ถ่ายทอดการรักษาแบบ ครอบแก้ว ฝังเข็ม กระตุ้นไฟฟ้า การนวดแบบเขมร รักษาอัมพฤกษ์ อัมพาต นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเรื่องการรักษาโรคกระดูก ที่มีความคล้ายคลึงกับไทยคือ การใช้คาถา ใช้สมุนไพร และการนวด

ส่วนประเทศพม่า นำเสนอการรักษาโรคกระดูกหัก ด้วยการเข้าเฝือกไม้ไผ่ การคำนวณการรักษาโดยหลักทางดาราศาสตร์ รวมทั้งความเชื่อที่ว่ามนุษย์ป่วยเกิดจากธาตุไม่สมดุล จึงมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มและลดทธาตุในร่างกายให้เกิดความสมดุล

หมอพื้นบ้านจากอินเดีย แบ่งปันประสบการณ์เรื่องระบบการแพทย์พื้นบ้านโดยอินเดีย แบ่งเป็นสองระบบคือการแพทย์ที่มีตำราการเรียนการสอนภาคทฤษฎีและระบบการแพทย์ที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นเป็นลักษณะของการจดจำ สมุนไพรที่มีการใช้มีมากกว่า 6 แสนชนิด

ส่วนที่มีการบันทึกเป็นรายลักษณ์อักษรมีการใช้กว่า 2,500 ชนิด เท่านั้น ทางด้านของอินโดนิเชีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเกาะมากถึง 71,000 เกาะ การแพทย์ดั้งเดิมเจริญเติบโตมากว่า 100 ปี มีเทคนิคการนวดกว่า 500 เทคนิค  โดยหมอแผนโบราณของอินโดนิเชียได้แบ่งปันการนวดแผนโบราณ

ซึ่งเรียกว่า พีแจ็กโอรส ซึ่งเป็นการนวดที่รวมวัฒนธรรมอยู่ด้วย รวมถึงการใช้น้ำมันมะพร้าว และสมุนไพรบางอย่าง จุดประสงค์ของการนวดคือ เพื่อบำรุงร่างกายและให้มีสุขภาพสมบูรณ์ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดร่างกาย กระตุ้นระบบประสาท ลดความกังวล

ด้านบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง ลาว ก็ได้แบ่งปันประสบการณ์ ว่า หมอพื้นบ้านลาวซึ่งมีเชื้อชนชาติ 49 กลุ่ม แบ่งได้ 4 ภาษา คือ จีน ทิเบต ม้ง มอญ มีการรักษาด้วยสมุนไพร และมีความพยายามที่รักษาพืชพันธ์สมุนไพรไม่ให้สูญหาย ลาวมีพิธีการรักษาที่ใช้คาถาพิธีกรรม สังเกต อวัยวะบนร่างกายสะท้อนโรค ควบคู่ไปกับการใช้การรักษาด้วย สมุนไพร

ขณะที่มาเลเซีย เน้นเรื่องการดูแลมารดาหลังคลอด ซึ่งเป็นภูมิปัญญาปรัชญาตะวันออก ที่ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเองได้จัดเป็นไฮไลท์การดูแลรักษาโดยคืนศักดิ์ศรีและความสวยงามให้กับเพศหญิงใน 3 ช่วงคือ หลังคลอด วัยทอง วัยหมดประจำเดือน

โดยมาเลเซียยึดนโยบายองค์การอนามัยโลก ที่สนับสนุนการผสมผสานการแพทย์ดั้งเดิมเข้ามาในโรงพยาบาล และปัจจุบันมีการพัฒนาการแพทย์ดั้งเดิมไปอย่างก้าวหน้าการดูแลสุขภาพอนามัยมารดาหลังคลอด

มาเลเซีย จะเริ่มจาก การอาบน้ำแบบโบราณ การนวด ประคบ ห่อ พันผ้า การนั่งถ่านในแบบของการแพทย์แผนมาเลเซีย แนวคิดในการดูแล ให้กระบวนการดูแลหญิงหลังคลอด พักผ่อน เพิ่มพลังงาน ให้ร่างกายมีความแข็งแรง การไหลเวียนเลือด อวัยวะสืบพันธ์ กล้ามเนื้อ การเผาผลาญไขมัน การซึมเศร้าหลังคลอด

ดังนั้น ผู้ที่ให้การดูแลสอบภามแม่หลังคลอดไปด้วย ผู้ให้บริการ นอกจากคนในโรงพยาบาลก็ยังมีหมอตำแยที่อยู่ตามหมู่บ้านเพื่อดูแลให้คำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารของมารดาหลังคลอดอีกด้วย 

ด้านฟิลิปปินส์ แบ่งปันการแพทย์ดั้งเดิมที่เรียกว่า ฮีล็อต ( Hilot )  สันนิษฐานว่า อาจพัฒนามาจากการแพทย์ดั้งเดิมของจีน ปัจจุบันมีการใช้อยู่กันในชนบทเป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับการรับรองเมื่อไม่นานมานี้ ในมุมของการแพทย์ฟิลิปปินส์มองว่าไม่จำเป็นต้องฆ่าเชื้อโรคแค่นำเชื้อออกจากร่างกายเพียงแค่รู้ถิ่นที่อยู่  ฮีล็อต ไม่ได้รักษาโรคแต่รักษาที่ตัวคน โดยมองถึงปัญหาสุขภาพตลอดชีวิต

ตั้งแต่ ทารก วัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ มารดาหลังคลอด  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาพบหมอจะมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลรักษาอวัยวะภายใน และโรคที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ เช่น ผีเข้า ต้องคำสาป โดนมนต์ดำใส่ตัว

ส่วนระบบการแพทย์พื้นบ้านเรียกว่า บานาฮาว ( Banahaw )  เป็นชื่อภูเขาไฟที่ดับแล้วซึ่งมีชุมชนหนึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ สำคัญคือเป็นที่ที่ในทุกทุกปีหมอพื้นบ้านมาชุมนุมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการรักษาโรค นอกจากนี้หมอใช้พื้นที่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ทำพิธีชำระล้างร่ายกาย จิตใจ และอารมณ์ให้บริสุทธิ์อีกด้วย

ส่วน ศรีลังกา มีระบบการแพทย์หลายรูปแบบ และมีหมอพื้นบ้านที่ขึ้นทะเบียนซึ่งมีความแตกต่างไปตามความถนัด มีการแพทย์พื้นบ้านที่เป็นหมอกระดูก มีการรักษาด้วยมนตรา มีหมอรักษาโรคผิวหนัง มีหมอรักษาโรคตา หมออายุรเวทที่มีการจดทะเบียนก็จะมีบัตรประจำตัว ในศรีลังกามีความหลากหลายของสมุนไพรมี 3,700 ชนิด และเป็นสมุนไพรที่พบเฉพาะในศรีลังกากว่า 900 ชนิด

ที่น่าสนใจคือ การรักษาจากการถูกงูกัด ศรีลังกามีมีหมอรักษางูกัด สองพันคน ความรู้นี้ได้จากรุ่นสู่รุ่น และใช้สมุนไพรเป็นยารักษา โดยการรักษามีการบริกรรมคาถาซึ่งคล้ายบทสวดบูชาในพุทธศาสนาของไทย

ต่อด้วยบทสวดเฉพาะซึ่งเชื่อมโยงกับอินเดียเพราะมีการสวดถึงเทพที่เหมือนกับในอินเดีย เช่น พระวิษณุ นอกจากยารักษาพิษงูก็มีการรักษาโรคไขมันในเลือด และมียาหลายรูปแบบที่ใช้ ทั้งยาเม็ด ยาน้ำมัน

และที่ขาดไม่ได้คือ การรักษาของหมอแผนไทย  ที่มีความรู้เรื่องปัญจขันธ์มาใช้ประกอบการรักษาเป็นพื้นฐาน เริ่มจากการรักษาโรคด้วยวิธีกัวซา และครอบแก้ว โดยก่อนการรักษาต้องมีการประเมินโรคก่อนด้วยทุกครั้ง 

ทั้งนี้ ภูมิปัญญารักษาเด็ก “ยาโปะกระหม่อม” ของ พ่อไสว เพนินศรี จ.ระนอง พ่อหมอเมืองใต้ จะมีการใช้ยาโปะกระหม่อมซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่มักทำร่วมกับพิธีรับขวัญเด็ก โดยหลังจากรับขวัญแล้วพ่อหมอแม่หมอจะทำยาโปะกระหม่อมให้ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ตัวยาประกอบด้วย รากกรุงเขมาและน้ำมะนาว ซึ่งช่วยป้องกันภูมิแพ้ โรคไข้ หรือโรคอื่นๆ ที่มักเกิดในเด็ก

โดยมีวิธีทำเอารากกรุงเขมามาตัดและฝนในน้ำมะนาว แล้วนำยาที่ฝนมาพอกกระหม่อมเด็ก และมีการบริกรรมคาถาร่วมด้วย ซึ่งการพอกจะไม่ใช่การนำยาไปพอกโดยตรง แต่จะใช้นิ้วชี้จุ่มยาและทาวนลงบนกระหม่อมเด็ก เจตนาการใช้ยานี้คือเข้าใจว่ายาสามารถผ่านกระหม่อมเข้าไปในร่างกายได้ โดยเด็กไม่ต้องกินยาโดยตรงเพราะยามีรสขมมากนั่นเอง

เรื่องน่าสนใจ