เนื้อหาโดย Dodeden.com

twitter.com

เชื่อว่าหนุ่มๆ สาวๆ ที่มีปัญหาสิวเรื้อรัง รักษายังไงก็ไม่หายสักที จะต้องรู้จักกับยารักษาสิวที่เคยมีหลายคนรีวิวเอาไว้เมื่อหลายปีก่อนอย่าง Acnotin 10 แน่นอน แต่รู้ไหมคะว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมาเปิดเผยถึงอันตรายของการใช้ยารักษาสิวชนิดนี้ และแน่นอนว่าเราจะไม่นิ่งนอนใจที่จะพาคุณไปทำความรู้จักกับยาอันตรายตัวนี้ก่อนที่จะสายเกินไป!

ยารักษาสิว Acnotin 10 ตัวนี้ เป็นยารักษาสิวที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทั้งช่วยลดความมันบนใบหน้า ใช้ไปเรื่อยๆ รอยสิวก็จะดูจางลง จากที่ย้อนกลับไปดูรีวิวจะเห็นได้ว่า มีหลายคนที่หลงผิดไปใช้ยาตัวนี้กันเยอะพอสมควร ด้วยเพราะเป็นยาที่หาซื้อได้ง่าย สรรพคุณน่าใช้ หลายคนเข้าใจผิดซะด้วยซ้ำว่าไม่ใช่ยา แต่เป็นวิตามิน ซึ่งยารักษาสิวตัวนี้ ก็จัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินเอค่ะ แต่จำเป็นต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อทานเองได้ (หากต้องการซื้อ ก็ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ด้วย ไม่ใช่ว่าหาซื้อกันได้ง่ายเหมือนในตอนนี้) หรือต้องได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรที่มีใบอนุญาตขายยาที่ถูกต้อง 

longevitymedical.com

เราอาจจะเคยเห็นยาตัวนี้อยู่ในชื่อการค้าอื่นๆ ได้ ไม่ใช่เฉพาะชื่อ Acnotin 10 เท่านั้น แต่ยังมีชื่ออื่นๆ อีก เช่น โรแอคคูเทน (Roaccutane) ,แอคโนติน (Acnotin), โซเทรท (Sotret) และไอโซเทน (Isotane) ชื่อต่างกัน แต่เป็นตัวเดียวกัน และอันตรายเหมือนกัน ซึ่งทางอย. ได้แจ้งมาว่า เมื่อใช้ยารักษาสิวตัวนี้ไปนานๆ ก็จะทำให้ร่างกายเกิดปฎิกิริยาต่อต้าน จนทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมามากมาย เช่น ความบกพร่องทางสมองของทารก โรคปากแหว่งเพดานโหว่ (ในรายสาวๆ ที่ตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นควรหยุดยาก่อนตั้งครรภ์จะดีมากค่ะ ระยะปลอดภัยคือ 1 ปี) มีอาการปากแห้ง ริมฝีปากแตก ตาแห้งและสู้แสงไม่ค่อยได้ ผิวหนังลอกเป็นแผ่นๆ และไวต่อแสง มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังตามมา และค่อนข้างจะเป็นอันตรายกับผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดและภาวะวิตามินเอสูง อีกทั้งยังพบถึงความเกี่ยวข้องกันของภาวะ Polycystic ovarian syndrome หรือกลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบอีกด้วย

 

eldercareinthai.com

หากถามว่า ประสิทธิภาพการรักษาของยาตัวนี้เป็นอย่างไรนั้น Acnotin 10 ถือว่าเป็นตัวยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสิวพอสมควรค่ะ (คลินิกรักษาผิวหน้าหลายแห่งมีการจ่ายยาชนิดนี้เช่นกัน) แต่หากพูดถึงผลข้างเคียงจากการใช้ไปนานๆ นั้น ก็คงจะดูน่ากลัวกว่า เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายเกิดอันตรายตามที่ได้บอกไว้ข้างบนเเล้วนั้น ยังมีผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารหูเเว่ว ได้ยินเสียงวี้ดๆ อยู่ในหู หากใช้กับยาบางตัวก็อาจจะเกิดพิษร้ายแรงต่อตับ ปวดกล้ามเนื้อ เกิดภาวะกระดูกพรุน หรือหากใช้ไปนานๆ ก็อาจจะทำให้มีแนวโน้มเกิดความผิดปกติทางจิตได้ (แต่ก็พบได้น้อย)

การเลือกใช้ยาชนิดใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การค้นคว้าหาข้อมูล ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เล่าอาหารให้แพทย์ฟังอย่างละเอียด เพื่อหาต้นตอและวิธีรักษาได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ห้ามซื้อยาตามอินเตอร์เน็ทมาทานเองเด็ดขาด ต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น หากใช้ยาตัวนี้นานๆ และไม่เหมาะสม อาจจะทำให้ได้รับอันตรายจนเสียชีวิตได้ การสอดส่องดูแลกันและกันก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ หากพบเห็นการจำหน่ายยาชนิดนี้อย่างผิดกฏหมาย ไม่ผ่านแพทย์ สามารถแจ้งมาได้ที่ทางสายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือ สายด่วน บก.ปคบ. 1135

เรื่องน่าสนใจ