กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผลผลตรวจปริมาณโซเดียมและโพแทสเซียมในเครื่องดื่มเกลือแร่ พบผ่านมาตรฐานร้อยละ 89 แนะประชาชนเลือกซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีเครื่องหมาย อย. และเลือกซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่ให้เหมาะสมต่อทางร่างกาย เช่น ผู้ป่วยอาการท้องเสียควรเลือกซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดผงละลายน้ำ ผู้ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องเสียเหงื่อมาก ควรเลือกเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดเครื่องดื่ม

 

กรมวิทยาศาสร์การแพทย์

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เครื่องดื่มเกลือแร่ เป็นเครื่องดื่มที่สามารถชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปได้ ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาล และเกลือแร่ที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมน้ำไปใช้ได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ร่างกายขาดน้ำและขาดสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย ช่วยแก้กระหาย ให้ความสดชื่นหลังเสียเหงื่อมาก เครื่องดื่มเกลือแร่มี 2 ชนิด คือ ชนิดเครื่องดื่ม และชนิดผงแห้งละลายน้ำ ตามปกติร่างกายได้รับเกลือแร่จากอาหารมากพออยู่แล้ว การขาดสมดุลเกลือแร่พบได้ในคนที่สูญเสียน้ำในร่างกายมาก เช่น เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย อาเจียน หรือท้องเสีย เป็นต้น ดังนั้นการชดเชยการสูญเสียน้ำโดยการดื่มเกลือแร่ทดแทนเพื่อป้องกันการเสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ขณะเดียวกันการได้รับโซเดียมและโพแทสเซียมที่อยู่ในเครื่องดื่มเกลือแร่มากเกินไป จะมีผลต่อการทำงานของตับและไต การเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติ ทั้งนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 195 (พ.ศ. 2543) เรื่องเครื่องดื่มเกลือแร่ กำหนดให้เครื่องดื่มเกลือแร่ต้องมีโซเดียมไม่น้อยกว่า 460 มิลลิกรัม และไม่เกิน 920 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไม่เกิน 195 มิลลิกรัม ของน้ำหนักปริมาณเกลือแร่ต่อลิตร

 

 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพเครื่องดื่มเกลือแร่ที่ผู้ประกอบการส่งมาตรวจวิเคราะห์ก่อนขึ้นทะเบียน อย. ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 ผลการตรวจวิเคราะห์เครื่องดื่มเกลือแร่ จำนวน 114 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียม ระหว่าง 389 – 1,827 มิลลิกรัมต่อลิตร ในจำนวนนี้มีปริมาณโซเดียมน้อยกว่า 460 มิลลิกรัมต่อลิตร จำนวน 3 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 920 มิลลิกรัมต่อลิตร จำนวน 7 ตัวอย่าง และพบปริมาณโพแทสเซียมระหว่าง 0 – 579 มิลลิกรัมต่อลิตร มีโพแทสเซียมมากกว่า 195 มิลลิกรัมต่อลิตร จำนวน 6 ตัวอย่าง พบเครื่องดื่มเกลือแร่มีคุณภาพผ่านมาตรฐานจำนวน 101 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 89 ไม่ผ่านมาตรฐานจำนวน 13 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 11 เมื่อจำแนกเป็นชนิดเครื่องดื่ม และชนิดผงแห้งละลายน้ำ พบว่าในชนิดเครื่องดื่มจำนวน 50 ตัวอย่าง ผ่านมาตรฐานจำนวน 42 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 84 และไม่ผ่านมาตรฐานจำนวน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 16 ชนิดผงแห้งละลายน้ำจำนวน 64 ตัวอย่าง ผ่านมาตรฐานจำนวน 59 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 92 และ ไม่ผ่านมาตรฐานจำนวน 5 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 8

 

“การเลือกซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่ควรเลือกดูผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. ที่ข้างบรรจุภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และควรเลือกซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่ให้เหมาะสมต่อทางร่างกาย กรณีผู้ที่ต้องออกกำลังหรือทำกิจกรรมที่ต้องเสียเหงื่อมาก ควรเลือกซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดเครื่องดื่มสำหรับออกกำลังกาย หรือที่เรียกว่า Sport drink โดยคนที่ออกกำลังกายหนักมากต้องการเติมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ควรเลือกซื้อชนิดที่ได้ครบทั้งน้ำตาลและเกลือแร่ ส่วนคนที่ทำกิจกรรมเบาๆ มีเสียเหงื่อบ้าง ก็ควรเลือกชนิดที่ให้น้ำตาลและเกลือแร่น้อยหรือปานกลาง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียควรจะเลือกซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดผงละลายน้ำที่มีส่วนประกอบของสารใกล้เคียงกับพลาสมาของคนเพื่อให้ผู้ป่วยดื่มชดเชยปริมาณน้ำและเกลือแร่ที่ถูกขับออกมาทางอุจจาระ โดยซองบรรจุต้องปิดผนึก ซึ่งจะต้องนำผงเครื่องดื่มเกลือแร่นั้นมาผสมกับน้ำต้มสุกสะอาดตามที่กำหนดระบุไว้ข้างซอง เมื่อละลายน้ำแล้วควรดื่มภายใน 24 ชั่วโมง โดยจิบช้าๆ แทนน้ำเมื่อเริ่มมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน ไม่แนะนำให้ผสมกับนมหรือน้ำผลไม้เนื่องจากอาจส่งผลให้ปริมาณสัดส่วนสารในสารละลายเกลือแร่เปลี่ยนแปลงได้ ควรระมัดระวังการใช้เกลือแร่ในคนที่มีการทำงานของหัวใจและไตผิดปกติ ไม่ควรใช้เกลือแร่ในผู้ป่วยที่มีภาวะท้องเสียอย่างรุนแรงซึ่งอาจจะนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ นอกจากนี้การดื่มเกลือแร่พร่ำเพรื่อหรือดื่มในช่วงเวลาที่สภาพร่างกายไม่ต้องการอาจมีผลเสียต่อร่างกาย เช่น ทำให้ฟันผุ เนื่องจากส่วนผสมของน้ำตาล และกรดต่างๆ จะไปกัดกร่อนสารเคลือบฟัน” นายแพทย์โอภาส กล่าวทิ้งท้าย

 

สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่

โดดเด่น
ศัลยกรรม
webdodeden

 

เรื่องน่าสนใจ