วันนี้ (21 มกราคม 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า ข้อมูลตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 20 มกราคม 2565 ประเทศไทยตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 10,721 ราย พบทุกจังหวัด กรุงเทพมหานครพบเชื้อโอมิครอนมากที่สุด 4,178 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,176 ราย, ชลบุรี 837 ราย ติดเชื้อในประเทศ 451 ราย, ภูเก็ต 434 ราย ติดเชื้อในประเทศ 32 ราย, ร้อยเอ็ด 355 ราย ติดเชื้อในประเทศทั้งหมด, สมุทรปราการ 329 ราย ติดเชื้อในประเทศ 54 ราย, สุราษฎร์ธานี 319 ราย ติดเชื้อในประเทศ 33 ราย, กาฬสินธุ์ 301 ราย ติดเชื้อในประเทศ 299 ราย, อุดรธานี 217 ราย ติดเชื้อในประเทศทั้งหมด, เชียงใหม่ 214 ราย ติดเชื้อในประเทศ 118 ราย และขอนแก่น 214 ราย ติดเชื้อในประเทศทั้งหมด
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการคัดเลือกตัวอย่าง มีการแบ่งกลุ่มต่างๆ สำหรับสุ่มตรวจ ดังนี้ กลุ่มเดินทางมาจากต่างประเทศหรือผ่านชายแดน จะตรวจดูตำแหน่งยีนส์ด้วย RT-PCR ทุกราย และสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ส่วนกลุ่มตัวอย่างเพื่อสะท้อนภาพรวมประเทศ กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วยังป่วย กลุ่มที่อาการรุนแรงหรือเสียชีวิต กลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนแล้วติดเชื้อซ้ำ คลัสเตอร์ใหม่ จะสุ่มเลือกรวมทุกกลุ่มไม่เกินจำนวน 140 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ ต่อเขตสุขภาพ
โดยข้อมูลการเฝ้าระวัง ระหว่างวันที่ 11 – 17 มกราคม 2565 จากการสุ่ม 3,711 ราย พบสายพันธุ์โอมิครอน ร้อยละ 87 เฉพาะผู้เดินทางจากต่างประเทศ 1,437 ราย พบสายพันธุ์โอมิครอน ร้อยละ 97 ส่วนในประเทศ 2,274 ราย พบสายพันธุ์โอมิครอน ร้อยละ 80 สายพันธุ์เดลตา ร้อยละ 20 ซึ่งการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ผู้มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตเรายังเกิดจากสายพันธุ์เดลตาในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงกว่าค่าเฉลี่ย เพราะฉะนั้นยังต้องระมัดระวัง กลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเป็นส่วนใหญ่แต่ยังพบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่บ้างกลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำทุกรายเป็นสายพันธุ์โอมิครอน แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์โอมิครอนหลบวัคซีนได้ วัคซีน 2 เข็มอาจไม่เพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อ คาดว่าปลายมกราคมนี้ ภายในประเทศอาจจะขึ้นไปเท่าๆ กับที่มาจากต่างประเทศร้อยละ 97-98 เป็นส่วนใหญ่ เดลตาก็จะหายไปในที่สุด
สำหรับการเฝ้าระวังโดยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวเรายังดำเนินการต่อไป จำนวนการตรวจของภาพรวมเราอาจจะตรวจลดลงเพราะเรารู้ข้อเท็จจริงแล้วว่าเป็นโอมิครอนส่วนใหญ่ แต่ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวยังต้องทำเพื่อดูสายพันธุ์โอมิครอนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ หรือมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม และคนที่มาจากต่างประเทศก็ยังต้องสุ่มตรวจเพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเป็นมาตรฐานของประเทศ สุดท้ายขอเชิญชวนทุกท่านฉีดวัคซีนเข็ม 3 การฉีดวัคซีนไม่ว่าจะสูตรไหน ก็ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน ลดความรุนแรงและการเสียชีวิตได้ และขอย้ำว่า ATK ตรวจแล้วแยกสายพันธุ์ได้ยังไม่มี
ด้าน ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า อยากย้ำนิดหนึ่งว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องรู้ว่าผลการตรวจสายพันธุ์ของเราเป็นอย่างไร เพราะเมื่อติดเชื้อการดูแลรักษาไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากอย่างอื่น สิ่งสำคัญของประชาชนเมื่อรู้ตัวว่าติดเชื้อแล้ว สิ่งแรกคือประเมินอาการตนเอง ดูว่าอาการของเรามากหรือน้อย แล้วแจ้งเข้าระบบถ้าดูแลตนเองให้หายเร็วทำร่างกายให้แข็งแรงเร็วอันนี้สำคัญที่สุด และจะต้องแยกกักตนเองไม่แพร่ให้ผู้อื่นต่อไป
สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่