กรมสุขภาพจิต พบพ่อแม่ที่มีลูกมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า ขาดนัดหมอเกือบ 60 ,000 คน ชี้จะส่งผลให้ลูกสูญความเก่ง อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยผลการตรวจพัฒนาการเด็กไทยวัย 3 ขวบครึ่งทั่วประเทศรอบ 9 เดือนปี 2560 จำนวน 1,181,239 คน พบร้อยละ 15 หรือ 172,790 คน มีปัญหาพัฒนาการสงสัยล่าช้าไม่สมกับอายุ ในจำนวนนี้พบว่าเด็กร้อยละ 34 หรือเกือบ 60,000 คน พ่อแม่ขาดนัดไม่พาลูกกลับประเมินพัฒนาการซ้ำ เนื่องจากคิดว่าลูกไม่ได้ป่วยเป็นอะไร ย้ำให้รีบพาลูกไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านโดยด่วนเพื่อแก้ไขได้ทันท่วงที ก่อนสมองลูกจะสูญเสียความเก่ง
ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 19 กรกฎาคม 2560 ) ที่โรงพยาบาลยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตพร้อมคณะ เดินทางไปเยี่ยมเสริมพลังบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ประกอบด้วยร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ในการส่งเสริมการตรวจเฝ้าระวังพัฒนาการเด็กไทยอายุต่ำกว่า 3 ขวบครึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน พ.ศ.2558 และเยี่ยมชมการตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)บ้านเสียว ต.บ้านเสียว ซึ่งมีทีม อสม.ร่วมตรวจค้นหาด้วย หากพบจะส่งรพ.สต.ต่อไป
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างจัดสัปดาห์รณรงค์ตรวจคัดกรองพัฒนาการของเด็ก 4 ช่วงวัยคืออายุ 9 เดือน ,18 เดือน ,30 เดือน และ 42 เดือนฟรีทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 17-21 กรกฎาคม 2560 เพื่อสร้างศักยภาพเด็กไทยก่อนวัยเรียนให้มีความพร้อมก่อนเข้าสู่ระบบการศึกษา
โดยเฉพาะความสมบูรณ์แบบการทำงานของสมอง ซึ่งเป็นต้นทุนที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิตของคนแต่ละคน มี 5 ด้านหลักได้แก่ การควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการยืน เดิน วิ่ง การทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการหยิบจับ การพูดสื่อสาร ความเข้าใจและการตอบสนองกับการได้ยิน การเห็น และด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคมโดยรวม โดยพัฒนาการแต่ละด้านเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน เช่น เด็กวัย 9 เดือนสามารถลุกขึ้นนั่งจากท่านอนได้ ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วอื่นๆหยิบจับวัตถุจากพื้นได้ หรือถือก้อนไม้เล็กๆ ในมือข้างละ 1 ก้อนได้เป็นต้น หากเด็กมีพัฒนาการไม่สมวัยครบทั้ง 5 ด้านหรือไม่เป็นไปตามวัยและไม่ได้รับการกระตุ้นแก้ไขที่ถูกวิธี จะส่งผลระยะยาวทำให้สมองเจริญไม่เต็มที่มีผลต่อระดับไอคิวและอีคิวต่ำกว่าเด็กปกติ และมีปัญหาการเรียนรู้ในอนาคต
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวต่อไปว่า ผลการตรวจพัฒนาการของเด็กวัยต่ำกว่า 42 เดือนทั่วประเทศรวมทั้งกทม.ด้วยในปีงบประมาณ 2560 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ถึงเดือนมิถุนายน 2560 ตรวจเด็กทั้งหมดรวม 1,181,239 คน พบว่ามีพัฒนาการสมวัยจำนวน 1,006,061 คน คิดเป็นร้อยละ 85 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ของกระทรวงฯ
โดยมีเด็กที่มีพัฒนาการสงสัยล่าช้าร้อยละ 15 หรือจำนวน 172,790 คน ซึ่งปัญหาใหญ่ที่ทุกพื้นที่ประสบขณะนี้ พบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกมีปัญหาพัฒนาการสงสัยล่าช้า ไม่ได้พาลูกไปตรวจติดตามพัฒนาการตามที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนัดมากถึงร้อยละ 34 หรือเกือบ 60,000 คน
เนื่องจากเข้าใจว่าลูกตนเองไม่ได้ป่วยไข้เป็นอะไรการเจริญเติบโตของลูกก็ปกติดี จึงไม่พาลูกไป ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อสมองของลูกมาก เมื่อเด็กไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างถูกวิธีและต่อเนื่องตามวัย จะทำให้ระดับไอคิวและอีคิวต่ำกว่าเด็กทั่วไป
เมื่อเข้าโรงเรียนก็จะมีปัญหาเรียนรู้ช้า เรียนไม่ทันเพื่อน ดังนั้นจึงขอให้ผู้ปกครองที่มีลูกมีปัญหาพัฒนาการสงสัยล่าช้าดังกล่าว ให้พาลูกไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านได้ทั่วประเทศ และขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือให้อสม.ช่วยติดตามในพื้นที่ด้วย
สำหรับเด็กที่ตรวจพบว่ามีปัญหาพัฒนาการสงสัยล่าช้า หลังจากที่อสม.และเจ้าหน้าที่ให้ความรู้พ่อแม่ในการฝึกส่งเสริมพัฒนาการระหว่างเลี้ยงดูที่บ้านตามคู่มือมาตรฐานของกระทรวงฯที่แจกให้ และตรวจประเมินซ้ำภายใน 1 เดือน ปรากฏว่าพัฒนาการของเด็กกลับขึ้นมาสมวัยสูงถึงร้อยละ 97 แต่ยังมีเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าผิดปกติมากประมาณร้อยละ 3 ต้องส่งตัวเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและกระตุ้นด้วยเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาล จึงขอให้ผู้ปกครองเด็กให้ความสนใจเรื่องพัฒนาการของลูก
หากสงสัยสามารถสอบถาม อสม.เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือ โทรปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิตหมายเลข 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง โดยกระทรวงฯตั้งเป้าลดปัญหาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าภายในปี 2561 ต้องไม่เกินร้อยละ 15 เพื่อให้เด็กไทยในยุค 4.0 มีไอคิวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 105 จุด ซึ่งได้บูรณาการความร่วมมือทำงานร่วม 3 กระทรวงหลักคือมหาดไทย พัฒนาสังคมฯและศึกษาธิการอย่างใกล้ชิด