ที่มา: dodeden

จากกรณี ที่มีผู้ร้องเรียนผ่านสื่อโซเชียล มายังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ว่ามี คลินิกเวชกรรมแห่งหนึ่งย่านแจ้งวัฒนะ ไม่ได้มาตรฐานความสะอาด เนื่องจาก มีการนำอาหารเข้าไปรับประทาน และทิ้งเศษอาหาร จาน ชามที่ยังไม่ได้ทำความสะอาดไว้ภายในห้องตรวจรักษาผู้ป่วย นั้น

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส.ได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย ลงตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว  หากพบว่าคลินิกดังกล่าวมีการกระทำตามที่ได้รับร้องเรียนจริง พนักงานเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำทันที และจัดทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงผู้ดำเนินการให้ปรับปรุงสถานที่ให้สะอาด เรียบร้อย ได้มาตรฐาน ภายในเวลา 7 วัน

ตามที่กฎหมาย 2 ฉบับ กำหนด คือ 1.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่ปรับปรุงและแก้ไข ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559 มาตรา 34 กำหนดให้ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะต้องควบคุมและดูแลสถานพยาบาลให้สะอาด เรียบร้อย ปลอดภัย และมีลักษณะอันเหมาะสม แก่การใช้เป็นสถานพยาบาล

และ2.กฎกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ว่าด้วยลักษณะของสถานพยาบาลและการให้บริการของสถานพยาบาล พ.ศ.2558 ในหมวดที่ 1 กำหนดให้บริเวณคลินิกทั้งภายนอกและภายในต้องสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย จัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยอย่างเหมาะสม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า หลังจากครบระยะเวลา 7 วัน ที่คลินิกได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว กรม สบส.จะส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบมาตรฐานความสะอาด เป็นครั้งที่ 2 หากยังไม่มีการปรับปรุงจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย คือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากยังฝ่าฝืนไม่มีการปรับปรุงสถานที่ให้ได้มาตรฐานจะดำเนินการขั้นแรงขึ้นคือปิดชั่วคราว หรือเพิกถอนใบอนุญาต

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ห้องตรวจรักษาเป็นห้องที่ต้องเคร่งครัด มาตรฐาน ความสะอาดเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ป่วยเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานโรคอ่อนแอกว่าคนปรกติทั่วไป จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย

ไม่ควรนำอาหารเข้าไปรับประทานในห้องตรวจ และไม่ควรทิ้งเศษอาหาร ในห้องตรวจรักษา เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็น เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารให้ หนู แมลงสาบ ซึ่งเป็นพาหะนำโรคอีกด้วย คลินิกทุกแห่งจะต้องปฏิบัติ โดยแยกขยะติดเชื้อ และขยะทั่วไปออกจากกันอย่างชัดเจน

โดยขยะติดเชื้อต้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ขอให้ผู้ดำเนินการคลินิกทุกคนแจ้งกฎระเบียบการกำจัดขยะให้เจ้าหน้าที่ประจำคลินิกทราบโดยทั่วกัน อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถร่วมเป็นหูเป็นตาในการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับสังคมโดยรวม ได้โดยสามารถแจ้งได้ที่เฟซบุ๊ค สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์, มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน หรือที่สายด่วน กรม สบส. 02 193 7999

เรื่องน่าสนใจ