นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันธุรกิจเสริมความงาม เป็นหนึ่งในธุรกิจที่กำลังมาแรง สะท้อนจากเม็ดเงินหมุนเวียนที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี
และจากจำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มมากขึ้น ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย มีตั้งแต่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงกลุ่มวัยทำงาน วัยสูงอายุ จึงมีผู้ฉวยโอกาสลักลอบให้บริการโดยขาดความรู้ ความชำนาญ รวมทั้งใช้เครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน
ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตัวผู้รับบริการทั้งเสียโฉม หรือถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งล่าสุด พบว่าสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภท สปา หรือนวดเสริมความงามในต่างจังหวัด มีการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียชักชวนประชาชนให้เข้ารับบริการฉีดสารเสริมความงาม โดยอ้างว่าผู้ให้บริการเป็นแพทย์จริงจากคลินิกใน กทม. พร้อมแสดงเลขที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อให้น่าเชื่อถือ
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 กำหนดให้สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ มีหน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพ ที่ไม่ใช่การรักษาฟื้นฟู
เพราะฉะนั้น สปา นวดเพื่อเสริมความงาม รวมทั้งร้านเสริมสวย จึงไม่สามารถให้บริการฉีดสารเสริมความงาม อาทิ โบท๊อกซ์ ฟิลเลอร์ หรือ วิตามินซี เป็นต้น เพราะผู้ให้บริการมิใช่แพทย์
หากสปา นวดเพื่อเสริมความงามหรือร้านเสริมสวยให้บริการดังกล่าวถือว่ามีความผิด เข้าข่ายเป็นสถานพยาบาลเถื่อน มีโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และผู้ให้บริการก็จะมีความผิดเข้าข่ายเป็นหมอเถื่อน มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า แพทย์ที่ให้บริการเสริมความงามทุกชนิด ไม่สามารถเดินสายให้บริการนอกสถานพยาบาลได้ เนื่องจากไม่ปลอดภัยกับผู้รับบริการ เพราะขาดความพร้อมของอุปกรณ์ เครื่องมือช่วยชีวิตหากเกิดเหตุฉุกเฉิน หากคนไข้หยุดหายใจ หรือเกิดการแพ้ยา
“เรื่องที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือ การโฆษณาแอบอ้างโดยนำหมายเลขใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม มาลงโฆษณาว่าให้บริการโดยแพทย์จริง ซึ่งไม่สามารถเชื่อถือได้ เนื่องจากไม่มีการระบุชื่อ-นามสกุลของแพทย์นั้นๆ เพียงแสดงแค่เลขใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพียงอย่างเดียว โดยที่ผู้รับบริการไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลแพทย์กับเว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) ได้ เพราะขาดชื่อ-นามสกุลของแพทย์” ทันตแพทย์อาคม กล่าว
ดังนั้น หากพบเห็นการโฆษณาลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นการโฆษณาหลอกลวง อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้แพทย์ทุกคนที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะต้องแสดงหลักฐานที่สมบูรณ์แบบ คือ ชื่อ นามสกุล รูปถ่ายหน้าตรง และเลขที่ใบอนุญาตอย่างครบถ้วน หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งให้สงสัยว่าอาจจะไม่ใช่แพทย์จริง
ขอให้แจ้งมาที่เฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์, มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน หรือที่สายด่วน คุ้มครองผู้บริโภค 02 193 7999 กรมสบส.จะดำเนินการทางกฎหมายทันที ทันตแพทย์อาคม กล่าว