กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนหญิงไทยไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างไม่รับจ้างอุ้มบุญทั้งในประเทศหรือต่างแดน หยุดทำลายสุขภาพตน ความปลอดภัย และอนาคตเด็ก แนะปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้องได้รับการดูแลอย่างรอบด้านตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนจบกระบวนการ

 

กรม สบส

 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบัน กรม สบส.ได้ดำเนินการพิจารณาอนุญาตให้ตั้งครรภ์แทนแล้ว 344 ราย โดยกฎหมาย “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558” กำหนดให้การขออนุญาตตั้งครรภ์แทนกระทำได้ในคู่สามีภริยาคนไทยที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องอายุระหว่าง 20-40 ปี และเคยมีบุตรมาแล้ว ประการสำคัญ กฎหมายห้ามมิให้ดำเนินการอุ้มบุญเพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยเด็ดขาด ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการมีบุตรแต่ไม่เข้าเกณฑ์ตามกฎหมาย หรือผู้ที่ต้องการรับจ้างอุ้มบุญทางการค้าแอบลักลอบไปรับบริการอุ้มบุญที่ต่างประเทศ ซึ่งการที่หญิงไทยเดินทางไปรับจ้างอุ้มบุญในประเทศที่ไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เป็นการเฉพาะนั้น ย่อมมีความเสี่ยงในหลากหลายด้าน ทั้งในด้านสุขภาพ ร่างกาย หรือสิทธิ์ในการเลี้ยงดูเด็กที่เกิด เนื่องด้วยการไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายที่ชัดเจนในการดูแลสุขภาพแก่หญิงอุ้มบุญ หรือกำหนดความเป็นบิดาและมารดาของเด็ก ดังนั้น หากเกิดการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์แทนก็มิอาจเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากคู่สามีภริยา หรือหากเด็กที่เกิดมีความพิการก็อาจจะทำให้เกิดการทอดทิ้งเด็กได้ ต่างจากประเทศไทยที่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ควบคุม กำกับเป็นการเฉพาะ โดยกำหนดให้สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายมีการทำข้อตกลงกับหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ในการเป็นผู้รับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพ หรือเมื่อได้รับความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการรับตั้งครรภ์แทนแก่หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน อีกทั้ง กำหนดความเป็นบิดาและมารดาของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ไว้อย่างชัดเจน ห้ามมิให้สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนโดยเด็ดขาด จึงมั่นใจได้ว่าทั้งหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนและเด็กจะได้รับการดูแลอย่างรอบด้านตั้งแต่ระหว่างการตั้งครรภ์และภายหลังการคลอด

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า สำหรับผลกระทบต่อหญิงที่ขายไข่ หรือรับจ้างอุ้มบุญนั้น นอกจากเรื่องสุขภาพแล้วทางด้านสังคมก็มีความรุนแรงไม่แพ้กัน อย่างกรณีของหญิงที่ทำการขายไข่จะ จะถูกฉีดยาเร่งไข่ในปริมาณมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการคั่งของน้ำในช่องท้อง หัวใจล้มเหลว หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และอาจเกิดการตกเลือด หรือการอักเสบติดเชื้อ สูญเสียความสามารถในการมีบุตรของตนเองในอนาคตได้ ส่วนหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญนั้น ก็มีความเสี่ยงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เนื่องจากจะมีการใส่ ตัวอ่อนในปริมาณมากเพื่อหวังผลให้มีบุตรมากกว่าการคำนึงถึงความปลอดภัยของหญิงที่มารับจ้างอุ้มบุญ มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์เช่น การตกเลือด โรคพิษแห่งครรภ์ ภาวะมดลูกแตกและเสียชีวิตได้ รวมทั้งหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญถือเป็นมารดาของเด็กที่จะเกิดมา ซึ่งจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และอาจส่งผลกระทบกับครอบครัวและการใช้ชีวิตของหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญ อีกทั้ง การกระทำดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์ ก่อให้เกิดปัญหาต่อเด็กและสังคมตามมา จึงขอกำชับให้ผู้ที่มีความคิดที่จะดำเนินการอุ้มบุญเพื่อประโยชน์ทางการค้าคิดเสียใหม่ ไม่นำอามิสสินจ้างเพียงเล็กน้อยมาแลกกับสุขภาพตน ความปลอดภัย และอนาคตเด็กที่เกิด

ทั้งนี้ การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนสามารถกระทำได้ในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้ที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (https://mrd-hss.moph.go.th/) โดยขณะนี้มีจำนวน 100 แห่งทั่วประเทศ

 

สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่

โดดเด่น
ศัลยกรรม
webdodeden

 

เรื่องน่าสนใจ