“ไปลา-มาไหว้” มารยาทไทยที่เป็นวัฒนธรรมการทักทาย เวลาพบปะกันหรือลาจากกัน “การไหว้” เป็นการแสดงถึงความมีสัมมาคารวะ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน นอกเหนือจากการกล่าวคำว่า “สวัสดี”
วัฒนธรรมในเรื่องของการไหว้นั้น มีความเป็นมาอย่างไร ไม่มีหลักฐานที่ระบุไว้แน่ชัด นายพะนอม แก้วกำเนิด อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ได้ให้ความเห็นว่า การไหว้นั้นเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่จะแสดงความรัก ความเคารพต่อกัน
เนื่องจากมนุษย์มีสมอง มีพัฒนาการที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จึงมีความคิดว่าทำอย่างไรจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อเจอกันจะทักทาย จะแสดงความรักต่อกันอย่างไรดี โดยธรรมชาติแล้วการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวกัน เป็นภาษาท่าทางที่แสดงออกถึงความรักที่มีต่อกัน
หลายประเทศทางยุโรปใช้การสัมผัสมือเมื่อพบกัน บางประเทศใช้แก้มสัมผัสกัน ใช้หน้าผากสัมผัสกัน หรือใช้จมูกสัมผัสกันก็มี แต่ทางแถบเอเชียนั้นการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวผู้อื่นนั้นถือว่าไม่สุภาพนัก คนทางแถบเอเชียจึงใช้การสัมผัสตัวเองเป็นการแสดงการทักทายหรือทำความเคารพ เช่นชาวจีนใช้มือทั้งสองข้างสัมผัสกันเพื่อแสดงการคารวะ อินเดียใช้ฝ่ามือทั้งสองประนมประกบกันเหมือนดอกบัวตูม เพื่อแสดงความเคารพและบูชา
ของไทยเราน่าจะรับวัฒนธรรมนี้มาจากอินเดีย นำมาปรับปรนให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนไทยจึงเกิดเป็นวัฒนธรรมการไหว้ที่แบ่ง เป็นระดับต่างๆ ขึ้นมา โดยใช้มือกับใบหน้าเป็นตัวแบ่งระดับ “การไหว้” เป็นภาษาท่าทางที่ใช้แสดงความเคารพ ทักทาย โดยการยกมือสองข้างประนม พร้อมกับยกขึ้นไหว้ในระดับต่างๆ
นอกจากนี้ยังแสดงออกถึงความหมายของ การขอบคุณ การขอโทษ การยกย่อง การระลึกถึง และอีกหลายความหมายสุดแท้แต่โอกาส การไหว้เป็นการแสดงมิตรภาพ มิตรไมตรี ที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นวัฒนธรรมที่งดงาม รวมทั้งเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทย
ซึ่งแนวปฏิบัติในเรื่องของการไหว้นั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดระดับของการไหว้ไว้ 3 ระดับ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและใบหน้าเป็นตัวกำหนดตำแหน่ง ดังนี้
การไหว้ระดับที่ 1 ใช้สำหรับไหว้พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมถึงโบราณสถาน โบราณวัตถุทางพุทธศาสนา ในกรณีที่เราไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว นิ้วชี้สัมผัสส่วนบนของหน้าผาก
การไหว้ระดับที่ 2 ใช้สำหรับไหว้ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ครู อาจารย์และผู้ที่มีเราเคารพนับถืออย่างสูง โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้สัมผัสระหว่างคิ้ว
การไหว้ระดับที่ 3 ใช้สำหรับไหว้บุคคลทั่วๆไป ที่มีวัยวุฒิสูงกว่าเราไม่มากนัก รวมถึงใช้แสดงความเคารพผู้ที่เสมอกันหรือเป็นเพื่อนกันได้ด้วย โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายคาง นิ้วชี้สัมผัสบริเวณปลายจมูก