ที่มา: Thairath Online

ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำขนาดไหน แต่แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติสเปน ZARA ก็ยังขายดิบขายดีทั่วโลก และทิ้งคู่แข่งไม่เห็นฝุ่น ใครจะงัดกลยุทธ์อะไรมาสู้กับซาร่า เป็นต้องหงายเงิบทุกทีไป เพราะสู้ความเร็วฟ้าแลบของซาร่าไม่ไหว ก็แคตวอล์กใหญ่ๆยังไม่ทันเก็บของกลับบ้าน ก็โดนซาร่าฉกแบบและไอเดียมาถีบจักรออกวางขายซะแล้ว–ในราคาถูกกว่าหลายสิบเท่า!! ถามหน่อยว่าเป็นคุณจะเลือกอุดหนุนสินค้าของใคร 

57

โจทย์ของซาร่าคือการหยิบแรงบันดาลใจจากเสื้อผ้าดีไซเนอร์แบรนด์ดังบนแคตวอล์กมาดัดแปลง (ไม่ได้ก๊อบปี้ เขายืนยัน!!) เพื่อให้ได้รูปแบบโดนใจคนที่สุด ในเวลารวดเร็วที่สุด ตีหัวเข้าบ้านว่างั้น โดยขั้นตอนการออกแบบจนถึงวางขายในร้านใช้เวลาไม่เกิน 2 อาทิตย์ ในขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วไป ต้องปลุกปั้นสินค้าถึง 2 เดือน

ทีมออกแบบของซาร่า ก็หูตาไวอย่างกับสับปะรด ทุกคนมีหน้าที่ตระเวนไปตามแฟชั่นวีกใหญ่ๆทั่วโลก เพื่อค้นหาไอเดียว่าเทรนด์ไหนจะมาแรง นอกจากการระดมสมองกำหนดเทรนด์และจังหวะการออกตัวสินค้าให้เร็วที่สุด ตัดหน้าคู่แข่ง ซาร่ายังให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของผู้จัดการสาขา ซึ่งรู้ดีที่สุดว่าแบบไหนขายดี ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ใครทำได้เร็วกว่า ถูกกว่า โดนใจกว่า ก็ย่อมเป็นผู้ชนะเห็นๆ ที่สำคัญเสื้อผ้าและเครื่องประดับของซาร่ามีดีไซน์โดดเด่น แต่สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน

เรื่องเดียวที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของซาร่า คือปัญหาลิขสิทธิ์ แต่ซาร่า ก็พยายามหลีกเลี่ยงมากที่สุด โดยแกะแบบสินค้าแบรนด์ชั้นนำระดับโลก แล้วนำมาปรับโน่นนิดนี่หน่อย เพื่อไม่ให้ถูกฟ้อง ครั้งหนึ่งซาร่าเคยโดน แบรนด์รองเท้าหรูของฝรั่งเศส “คริสเตียน ลูบูแตง” ฟ้องมาแล้ว โทษฐานก๊อบปี้รองเท้าพื้นแดง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สร้างชื่อ โดยซาร่าวางขายคู่ละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ลูบูแตง สนนราคาสูงกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

สูตรลับความสำเร็จของซาร่า พูดง่ายแต่เลียนแบบยาก!! คิดค้นจาก มันสมองเปรื่องๆของ “อามันซิโอ ออร์เตก้า” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ซาร่า จนกลายเป็นมหาเศรษฐีรวยสุดของยุโรป และปีนี้ยังรวยแซงหน้าเศรษฐีแชมป์เก่า ขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีเบอร์สองของโลกในทำเนียบฟอร์บส์ ด้วยสินทรัพย์ถึง 72,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เรื่องราวการสร้างเนื้อสร้างตัวของ “ออร์เตก้า” ก็เป็นที่เล่าขานพอๆกับความสำเร็จของซาร่า เขาเติบโตมาในครอบครัวยากจน พ่อเป็นพนักงานรถไฟ อายุ 14 ปี ต้องออกจากโรงเรียนมาหาเลี้ยงครอบครัว เขาเริ่มต้นทำงานแรกเป็นลูกมือในร้านขายเสื้อเชิ้ตชื่อ “กาล่า” พออายุ 36 ปี ก็ตั้งตัวเป็นเถ้าแก่เอง โดยเปิดร้านขายเสื้อคลุมอาบน้ำ และตั้งโรงงาน เย็บผ้าเล็กๆ กระทั่งต่อยอดไปสู่การเปิดร้านเสื้อผ้ายี่ห้อ ZARA สาขาแรก ในปี 1975 ตอนเขาอายุ 39 ปี จากร้านเสื้อผ้าเล็กๆสาขาเดียว เขาขยายแบรนด์ซาร่าไปทั่วยุโรป และสยายปีกไปเปิดสาขาทั่วโลก ตั้งแต่ปี 1990 กระทั่งปัจจุบันมี 6 พันสาขา และจ้างพนักงานไว้ถึง 92,000 คน

แม้จะคลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น แต่ชีวิตจริงของ “ออร์เตก้า” กลับเรียบง่ายสมถะสุดๆ เขารังเกียจความฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่าย เกลียดการผูกเนกไท และชอบใส่ชุดยูนิฟอร์มซ้ำกันทุกวัน เป็นเสื้อเชิ้ตขาวกับสูทบางสี น้ำเงินและกางเกงสีเทา ทุกวันจะต้องไปดื่มกาแฟร้านประจำ และทานอาหาร กลางวันกับพนักงานในแคนทีน เขาเก็บเนื้อเก็บตัวมาก ไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อ ย้อนกลับไป 10 กว่าปีก่อน แม้แต่รูปสักใบยังไม่เคยเผยแพร่ด้วยซ้ำ มีเพียงข่าวเล็ดลอดว่าชีวิตเขาไม่สวยงามเหมือนธุรกิจ เขามีลูกสาว 2 คน และลูกชายคนเดียว จากภรรยาคนแรก แต่ลูกชายป่วยทางจิตสร้างความหนักใจมาก หลังเลิกกับแม่ของลูกๆ เขาก็คว้าลูกจ้างในบริษัทมาเป็นเมีย!!

ก่อนที่จะประกาศเกษียณแบบสายฟ้าแลบจากการกุมบังเหียนกลุ่มบริษัท Inditex (บริษัทแม่ของซาร่า และแบรนด์แฟชั่นอีกสารพัด) เมื่อปี 2011 ภาพที่เห็นชินตาคือ เจ้าพ่อซาร่าจะนั่งล้อมวงประชุมกับลูกน้อง เช้าจดเย็น เขาเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่คิดแบบ ดีไซน์ เลือกเนื้อผ้า กำหนดเทรนด์ และควบคุมการผลิต สิ่งที่เจ้าพ่อซาร่า เน้นที่สุด “ลูกค้าคือพระเจ้า” ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เร็วที่สุด และต้องเร็วกว่าคู่แข่ง ถูกกว่าคู่แข่ง!! ปัจจุบัน ในวัย 79 ปี “ออร์เตก้า” ยังคงเป็นตำนานเล่าขานไม่รู้จบของอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก เขาอาจเป็น “ตัวแสบ” ในสายตาคู่แข่ง แต่สำหรับคนรายได้ต่ำรสนิยมสูง คุณลุงคือเทวดามาโปรดชัดๆ

ป้ายกำกับ: | |

เรื่องน่าสนใจ