คุณค่าความเป็นมนุษย์ คือทุกคนได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกัน แนวคิดดีๆ จาก regional sale manager สุดฮอต “กฤษฏิ์ เพียรมุ่งสัมพันธ์” รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เวที Mr.Gay World Thailand 2020 และได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยม

 

คุณค่าความเป็นมนุษย์ คือทุกคนได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกัน

แนะนำตัวให้ชาวโดดเด่นดอทคอมรู้จักคุณมากขึ้นหน่อยค่ะ
“สวัสดีชาวโดดเด่นดอทคอมทุกคนนะครับ ผม หมี-กฤษฏิ์ เพียรมุ่งสัมพันธ์นะครับ รองอันดับหนึ่ง MGT 2020 และได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยม ตอนนี้อายุ 39 ปีครับ โสดสนิท ( หัวเราะ ) ผมทำงานเป็น regional sale manager ของ Namsiang Group ครับ ดูแลการขายเคมีภัณฑ์ใน 4 ประเทศคือไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย

ผมเข้ามาประกวด MGT ในปีนี้ เพราะผมเป็นคนชอบความท้าทาย อยากได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ รู้จักคนใหม่ๆ นอกเหนือจากแวดวงงานประจำและเพื่อนฝูง และอีกอย่างหนึ่งคือผมชอบ concept ของเวที ที่ทุกคนภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่ว่ารูปลักษณ์ของคุณเป็นอย่างไร ไม่ยึดขนบความงามแบบพิมพ์นิยม เรียกว่า เพียงแค่กล้า คุณก็ชนะตัวเองแล้ว ความ real ของตัวตนผู้เข้าประกวดมีเสน่ห์มากๆ เลย

และอีกอย่างหนึ่งคือการเข้ามา ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาของกลุ่ม LGBT ซึ่งมันเปิดมุมมองความคิดของผมได้มากมาย ยิ่งคำว่า we are family มันสะท้อนว่า พวกเราทุกคนต้องจับมือเป็น family หรือเป็น unity เดียวกันเพื่อสื่อสาร ขับเคลื่อนให้ปัญหาสิทธิมนุษยชนของ LGBT ที่ยังมีความไม่เข้าใจอัตลักษณ์ การเลือกปฏิบัติ การเหยียด ตีตรา ใช้ความรุนแรง ให้ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ ผมมาประกวดเพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบอกเสียงตรงนั้น

คุณค่าความเป็นมนุษย์

นิสัยส่วนตัวผมเป็นคนสบายๆ ครับ ชอบเล่นมุขแป๊กๆ ( หัวเราะ ) แต่ผมก็เหมือนคนมีสองภาคนะ คือในภาคการทำงานผมจะซีเรียสจริงจัง เพราะผมถือว่า อะไรที่เป็นหน้าที่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อเราเลือกรับหน้าที่ไหนแล้ว เราต้องเต็มที่กับมัน เหมือนกับที่ผมเต็มที่กับการประกวดทุกอย่าง ฝึกซ้อมเตรียมตัวความรู้ บุคลิกภาพ ผมสื่อสารแลกเปลี่ยนกับคนที่เข้ามาติดตามผมในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คสม่ำเสมอ เพราะผมให้ความสำคัญกับทุกกำลังใจครับ”

รู้สึกยังไงบ้าง หลังจากที่ได้รับตำแหน่ง รองอันดับ 1 และชุดประจำชาติยอดเยี่ยม
“ก่อนอื่นผมต้องขอพูดถึงเรื่องชุดประจำชาติก่อนนะครับ ชุดประจำชาติสวย ๆ มีลูกเล่นในการนำเสนอจนชนะใจกรรมการได้ ผมขอขอบคุณคุณอัครัช ภูษณพงศ์ ร้านอาร์ตอัครัชเนรมิตศิลป์ ผู้ออกแบบตัดเย็บ ชุดของผมชื่อชุด “มหาวีรบุรุษนักรบแห่งสยาม” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากมหาวีรบุรุษ บรรพชนนักรบของไทย ผมตั้งใจจะเลือกชุดในแนวคิดนี้ โดยในชุดจะมีดีเทลเป็นชุดนักรบ และมีแบบจำลองเมืองเก่า

เพื่อสะท้อนว่า ตั้งแต่อดีต กว่าเราจะเป็นชาติได้จนถึงทุกวันนี้ บรรพบุรุษของเราเสียเลือดเนื้อไปไม่ใช่น้อยเพื่อสร้างและรวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่น ภาพความยิ่งใหญ่ของวีรกรรมจึงถูกถ่ายทอดผ่านทางชุด เพื่อเป็นการให้ความเคารพบูชาต่อบรรพชนรุ่นก่อน “

“ผมรู้สึกดีใจที่ได้รับตำแหน่งชุดประจำชาติยอดเยี่ยมครับ เพราะผมชื่นชอบในความหมายของชุดแต่แรก และอยากให้ความหมายของชุดที่ผมกล่าวมาส่งผ่านไปถึงคนดูการประกวดด้วย ชุดหนักนะครับ ( หัวเราะ ) แต่วีรกรรมของบรรพชนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่จริงๆ จึงอยากให้ชุดออกมาดู grand ที่สุด
สำหรับตำแหน่งรองอันดับหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ผมภูมิใจครับ ผมเป็นคนทำงานที่เริ่มจากสายวิทยาศาสตร์ แล้วไปทำงานสาย sale

ซึ่งความรู้ด้านสังคมศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพ ( gender ) เพศวิถี ( sexuality ) มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างห่างไกลตัวผม แต่เมื่อผมเต็มใจที่จะเข้ามาประกวดแล้ว ผมต้องทำให้ดีที่สุด เพราะผมเข้าใจแก่นของเวทีว่าคือการสร้าง spokesman ที่เป็นเกย์เพื่อสื่อสารปัญหา LGBT ในปัจจุบัน ผมจะต้องทำอะไรที่ตอบโจทย์ของเวทีได้ “

“ผมเรียนรู้อย่างหนักตั้งแต่วันที่ประกาศผลให้ตัวเองพร้อมและสมบูรณ์ที่สุด ตำรา ข่าว ภาษาไทย ภาษาอังกฤษอ่านให้ได้มากที่สุด วิ่งหาผู้รู้ช่วยติวช่วยสอน ช่วยการคิดแบบวิพากษ์ และพยายามตีความ วิเคราะห์เหตุของปัญหารวมถึงทางแก้ไข และถ้ามีโอกาสก็พยายามสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกลุ่ม LGBT เมื่อได้รองอันดับหนึ่งมา ก็ถือว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่ผมได้ทำอย่างเต็มที่ในเวลาที่ค่อนข้างจำกัดครับ และจริงๆ อยากเรียนรู้อะไรให้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ มันเหมือนผมยังไม่สุดกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ ( หัวเราะ )”

ทำไมคุณให้ความสนใจกับ LGBT ที่ยากจนคะ ?
“เพราะผมยึดหลักในเรื่องความเท่าเทียมครับ ความยากจนในมุมมองผมคืออัตลักษณ์หนึ่งที่อาจเรียกว่าเป็นอัตลักษณ์ด้านชนชั้นก็ได้ แต่อัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ไม่ควรเอามาลดคุณค่า ตีตรา หรือเลือกปฏิบัติต่อความเป็นมนุษย์ ทุกคนควรได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกัน เช่นในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ การไม่ถูกดูหมิ่นดูแคลน แต่ความยากจนมันกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนจนหลายๆ คนไม่รู้สิทธิ์ของตัวเองเพราะเข้าไม่ถึงสื่อหรือด้อยการศึกษา ประกอบกับฐานะทำให้พวกเขาขาดโอกาสอะไรหลายๆ อย่าง ในประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศที่มีคนยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก”

“LGBT ยากจนส่วนหนึ่งก็เป็นคนไร้บ้านด้วยครับ เพราะอยู่บ้านไม่ได้ถูกครอบครัวรังเกียจ ต้องออกมาใช้ชีวิตข้างถนน อย่างที่น้องจิ๊บ ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ผู้เข้าประกวดคนหนึ่งทำแคมเปญเพื่อช่วยเหลือ LGBT ที่เป็นคนไร้บ้าน พวกเขามีความทุกข์อยู่แล้วกับการที่อยู่ในครอบครัวไม่ได้

ส่วนหนึ่งก็ถูกผลักเข้าวังวนการค้าประเวณีที่ไม่ปลอดภัยเช่น การค้าประเวณีข้างทาง เมื่อเกิดปัญหาติดโรคก็เข้าถึงการดูแลยาก หรือกระทั่งมีปัญหากับผู้ซื้อบริการก็ไม่สามารถร้องเรียนเอาผิดได้ง่ายๆ ผมคิดว่าการช่วยกลุ่มด้อยโอกาสเป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะเขาขาดอะไรมากกว่าเราๆ เยอะ เขาควรจะได้รับการดูแล” 

“LGBT ที่ยากจนควรจะได้รับโอกาสในสิ่งที่พวกเขาเข้าไม่ถึงด้วยข้อจำกัดต่างๆ เช่นขาดเงิน ผมจึงออกแบบ social campaign ของผมเรื่อง reduce and erase คือ “ลดและลบ” หรือจะเรียกว่า “no scar no stigma” ก็ได้ ความที่ผมทำงานในบริษัทเคมีภัณฑ์ ผมคิดว่า ศักยภาพของผมตรงนี้สามารถช่วยเหลือกลุ่มคนที่แสดงอาการของโรคเอดส์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นอย่างซิฟิลิส โดยทำเป็นโครงการ CSR ที่ผลิตเวชสำอางที่มีคุณภาพดี แจกให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่แสดงอาการแล้ว และเขายากจน การแสดงอาการของโรคที่ปรากฏส่วนหนึ่งคือการแสดงอาการทางผิวหนัง

ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดความไม่สบายใจว่า เขาป่วยอยู่แล้วเขาก็ยังถูกรังเกียจ หรือตีตราจากแผลบนตัวอีก เวชสำอางที่ผมผลิตจะสามารถช่วยลดรอยแผลให้เขาเกิดความสบายใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น และยังแก้อาการทางผิวหนัง เช่น ผดผื่นคัน” 

“นอกจากเรื่องของการลดรอยแผลให้ผู้ป่วยที่ยากจนแล้ว ผมคิดว่า สวัสดิการของรัฐก็ควรต้องช่วยเหลือ LGBT ที่ยากจนมากขึ้น อย่างขณะนี้มีการผลักดัน พ.ร.บ.รับรองเพศสภาพ ซึ่งให้กลุ่มข้ามเพศใช้คำนำหน้านามตามเพศใหม่ได้ ประเด็นหนึ่งคือมันต้องมีค่าใช้จ่ายในการแปลงเพศครับ ไม่ว่าหญิงข้ามเพศ หรือชายข้ามเพศ พวกเขาหลายคนมีความทุกข์กับการที่เพศกำเนิดไม่ตรงเพศวิถีของเขาเอง เขาก็ต้องการแปลงเพศ แต่ศัลยกรรมแปลงเพศนี่ค่าใช้จ่ายมันสูงมาก

ผมอยากให้มองเป็นสวัสดิการอันหนึ่งที่คนข้ามเพศที่ยากจนมีสิทธิ์ได้รับด้วย เพื่อเขาใช้ชีวิตตามเพศวิถีของเขาได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่มองแค่เป็นศัลยกรรมความงามเท่านั้น ผมอยากให้กฎหมายตัวนี้ที่กำลังผลักดันมีกองทุนแปลงเพศด้วย ผมไม่อยากให้ความยากจนกลายเป็นข้อจำกัดที่คนเราไม่ได้รับสิทธิ์เท่าเทียม หรือสิทธิ์ที่เขาควรจะได้”

คุณค่าความเป็นมนุษย์

ในต่างประเทศ มีการตั้งองค์กรที่สนับสนุนนักศึกษาที่เป็น LGBT มีความเห็นอย่างไรบ้างคะ ?
“คำถามนี้โจทย์แรกที่ผมต้องตีความคือ “การสนับสนุนนักศึกษา LGBT” คือคำว่า “สนับสนุน”มันก็มีความหมายที่ดีนะครับ แต่การสนับสนุนนี่เป็นอย่างไรก็ต้องมาพิจารณากัน นักศึกษาคือผู้ที่เรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ในหลายประเทศทางยุโรปหรืออเมริกา การยอมรับตัวตนทางเพศของคน LGBT จะเรียกว่าเปิดกว้างก็ได้ ไม่เปิดกว้างก็ได้ ผมเห็นการสำรวจของ Asher& Lyric Fergusson ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เขายกประเทศที่มีความเป็น LGBT friendly คือเรื่องการให้สิทธิ์ทางกฎหมายที่เท่าเทียม ประเทศไทยเราได้แค่เกรด D+ แต่ขณะเดียวกัน ประเทศเราก็ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงกับ LGBT แบบถึงชีวิตมากอย่างประเทศที่ได้ลำดับสูงกว่าเรา และเรามีความเป็น gay friendly มากถึงขนาดที่กลุ่ม LGBT มองว่าเป็น gay destination ในการท่องเที่ยว ททท.ก็ส่งเสริมเรื่องนี้”

“ถึงแม้หลายประเทศที่ได้เกรดสูงกว่าเรา จะมีกฎหมายเรื่องสิทธิ LGBT แต่บางทีกฎหมายมันจำเป็นต้องออกมาเพื่อคุ้มครองให้ LGBT พ้นจากอันตราย อย่างในบราซิล เมกซิโก หรืออเมริกา คนข้ามเพศถูกฆ่าตายด้วยความเกลียดชัง ( hate crime ) ค่อนข้างมากจนในบราซิลเองต้องมีการผลักดันกฎหมายเรื่องการเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศ ( homophobia ) เป็นความผิด หรือในสวิสเซอร์แลนด์ก็ผลักดันกฎหมายนี้

หรืออย่างในอเมริกา ก็มีเรื่องการใช้สิทธิด้านความเชื่อทางศาสนา ( religious freedom ) ในการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มหลากหลายทางเพศ กฎหมายมันมีครับแต่ในระดับจิตสำนึกของคนมันเป็นอีกอย่าง เพราะเรื่องความเชื่อ ความไม่เข้าใจในอัตลักษณ์ของ LGBT ก็มีอยู่”

คุณค่าความเป็นมนุษย์

“ดังนั้นเมื่อมันยังเป็นมุมมองที่เห็นว่า เปิดกว้างก็ได้ ไม่เปิดกว้างก็ได้ การที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศจะมีการรวมกลุ่มเป็นชมรม องค์กร เพื่อสนับสนุน LGBT ผมว่าเป็นเรื่องดีนะครับ มันดีเหมือนการจัดเวที MGT แหละครับ คือกลุ่ม LGBT ได้มารวมตัวกันเพื่อบอกเล่าถึงปัญหา หาวิธีแก้ไข และรวมตัวกันเป็น unity เพื่อเรียกร้องสร้างความเท่าเทียม อย่างเช่นเรื่องการใช้ห้องน้ำในมหาวิทยาลัย ว่าควรมีห้องน้ำที่ไม่ระบุเพศหรือไม่ หรือให้กลุ่มข้ามเพศใช้ห้องน้ำตามเพศใหม่ การรวมตัวของเสียงนักศึกษาจะทำให้เกิดการผลักดันเป็นนโยบายได้ และยิ่งหากมหาวิทยาลัยรับฟังเพราะสนับสนุนการรวมตัวตรงนี้ ก็ทำให้นโยบายการแก้ไขปัญหามีความชัดเจน ปฏิบัติได้จริงเป็นรูปธรรมขึ้น”

“ขณะเดียวกันนอกจากการรวมตัวเพื่อเรียกร้อง แก้ไขปัญหา ผมอยากให้ชมรม LGBT ในต่างประเทศมีส่วนในการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับ LGBT กับคนที่ยังไม่ยอมรับว่า เพศคืออัตลักษณ์ที่เราต้องให้ความเคารพ ว่ามีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และมีการส่งเสริมบทบาทของ LGBT ในมหาวิทยาลัยในรูปแบบต่างๆ เช่น ยอมรับกลุ่มนักกีฬาหรือเชียร์ลีดเดอร์ข้ามเพศ จริงๆ ผมอยากให้มีตั้งแต่ระดับโรงเรียนด้วยซ้ำ และให้มีในประเทศไทยด้วย เพราะเด็ก LGBT ไทยก็ยังอยู่กับปัญหาการถูกล้อเลียน ซึ่งมันก็คือความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ผมยังยืนยันความเชื่อเดิมว่า ปัญหาของ LGBT เกิดจากความไม่เข้าใจตัวตนว่ามันคือเรื่องปกติ สิ่งที่ต้องทำคือการให้การศึกษาและการใช้สื่อสร้างความเข้าใจ ซึ่งการรวมกลุ่มกันและมีการส่งเสริมบทบาทมันจะยิ่งเป็นแรงเสริมในการสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การยอมรับได้อีกระดับหนึ่ง”

คุณค่าความเป็นมนุษย์

เราควรเพิ่มเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ในหลักสูตรของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหรือไม่?
“ควรเพิ่มครับ สถิติผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ที่ กทม.สำรวจมาในปี 2562 นี่มี 1,190 คน ซึ่งเกินครึ่งเป็นช่วง 17-25 ปี ก็คือช่วงวัยรุ่นและเรียนมหาวิทยาลัยนี่แหละ ผมคิดว่า ปัญหาคือเราซุกเรื่องเพศไว้ในที่ลี้ลับอับอาย อาจเพราะเห็นว่า ไม่ใช่วัยที่เยาวชนควรเรียนรู้ กลัวเด็กใจแตก แต่เรื่องเพศมันเป็นสัญชาตญาณนะครับ คนที่มีความต้องการเขาก็ต้องระบายออก ถ้าไม่สอนเลยก็ไประบายออกกันแบบผิดๆ ถูกๆ คือไม่มีการป้องกันที่ถูกต้อง ไม่รู้จักยา PrEP ยา PEP อายไม่กล้าซื้อถุงยาง และที่สำคัญ การระบายออกแบบผิดๆ เลยคือการระบายออกทางเพศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจ ( consent ) เช่นการล่อลวง นัดกันตาม dating application แล้วถ่ายคลิปแบล็คเมล์ หรือกระทั่งการบังคับขืนใจ การมอมยา”

chris.phianmungsamphan

“มันมีค่านิยมบางอย่างที่จำกัดการเรียนรู้เรื่องเพศของสังคมไทยอยู่ อย่างที่ผมมองเรื่องหนึ่งคือค่านิยมแบบผัวเดียวเมียเดียว ( monogamy ) ที่จะสอนว่า ผู้ชายกับผู้หญิงควรจะรักเดียวใจเดียว มีเพศสัมพันธ์กันเมื่อพร้อมคือแต่งงานแล้ว แต่เรามาดูโลกของความเป็นจริง เรื่องเพศสัมพันธ์มันเสรีขึ้นมากสำหรับทุกเพศ ผมคิดว่า คนเรามีสิทธิ์มีเพศสัมพันธ์ถ้าเกิดจากความยินยอมพร้อมใจ และต้องมีความรู้ในการป้องกันรับผิดชอบต่อตัวเองและคู่นอน เรื่องนี้แหละครับคือการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าเพศไหนก็ต้องรู้ ต้องป้องกันตัวเองเป็น”

 
“นอกจากการเรียนการสอนเรื่องการเคารพกันทางเพศ การป้องกันตัวเองในการมีเพศสัมพันธ์ การเรียนการสอนต้องขยายไปถึงเรื่องให้รู้สิทธิ รู้สถานที่ดูแลสุขภาพหากเกิดอุบัติเหตุจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ถุงยางแตก รับ PEP ได้ที่ไหน สอนการใช้ยา PrEP อย่าตีตราคนใช้ PrEP ให้มองว่าเขารับผิดชอบต่อตัวเองและคู่นอน และสอนการใช้ถุงยางอนามัยนี่สำคัญมาก การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใช้ถุงยางแต่ใช้ยา PrEP มันไม่ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นอย่างหนองในหรือซิฟิลิส อีกทั้งมันไม่เห็นการป้องกันที่ชัดเจน มีคนอ้างว่ากิน PrEP แต่จริงๆ เขาไม่กิน หรือกิน dose ไม่ถูกต้องก็ได้ และสอนให้รู้ว่า บางโรคอย่างซิฟิลิสมันติดต่อทางแผลหรือน้ำสารคัดหลั่งโดนร่างกายได้ เช่นนั้นควรแก้ปัญหาทันด่วนอย่างไร”

 
“และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากคือเรื่องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Undetectable = Untransmittable ( U=U ) คือการที่ผู้ติดเชื้อ HIV กินยาต้านจนถึงจุดหนึ่งแล้วจะเข้าสู่ภาวะไม่แสดงอาการ ไม่แพร่เชื้อต่อ ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย เราต้องสอนให้รู้ตั้งแต่เด็กนักเรียน เพื่อไม่ให้เกิดการรังเกียจตีตราผู้ติดเชื้อ”

“แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า การเพิ่มหลักสูตรสำหรับเด็กไม่เพียงพอครับ ถึงรู้ แต่เด็กที่เผลอไผล พลาดพลั้งไปตามความต้องการก็มีอยู่ ปัญหาคือเด็กเหล่านี้อาย กลัวถูกตีตราว่าเป็นคนไม่ดี กลัวถูกตำหนิ ระบบอาวุโสในสังคมไทยมันยังทำให้มีช่องว่างระหว่างครูกับเด็ก หรือเด็กกับพ่อแม่อยู่ เราอาจต้องมีครูแนะแนวที่พร้อมจะให้ความรู้แบบเปิดใจและไม่ตัดสินเด็ก ให้เด็กไว้ใจที่จะพูดด้วยได้ หรืออบรมพ่อแม่ผู้ปกครองให้เปิดใจยอมรับเรื่องเพศมากขึ้น เมื่อมีปัญหาลูกจะได้มาปรึกษาและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีครับ”

อยากฝากอะไรถึงกลุ่ม LGBT ที่กำลังประสบปัญหาในการใช้ชีวิต ?
“ผมคิดว่า LGBT ที่ประสบปัญหาในการใช้ชีวิต คือคนรอบตัวยังไม่เข้าใจว่า LGBT ว่าเป็นอัตลักษณ์หนึ่งที่ควรเคารพ ดังนั้นไม่ใช่แค่เราพูดกับ LGBT ในเชิงให้กำลังใจครับ แต่เราต้องสอนทั้งสังคม ว่าทุกเพศมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน คุณจะตัดสินใครคุณตัดสินเขาด้วยพฤติกรรมที่เขาทำ ไม่ใช่ใช้กรอบเพศมาด่วนตัดสินคนว่าผิดปกติ ว่าไม่ดี ถ้าเราสอนเรื่องนี้ตั้งแต่เด็กๆ เด็ก generation ใหม่ที่เติบโตมา เขาจะเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน มองข้ามเรื่องการตัดสินคนด้วยเพศ และทีนี้ ปัญหาอะไรต่างๆ ที่เราไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียม ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกตีตราก็จะถูกแก้ไขไปได้ “

“แต่สำหรับ LGBT ที่กำลังประสบปัญหาในการใช้ชีวิต เช่นการถูก bullying การถูกเลือกปฏิบัติ ผมอยากให้ลุกขึ้นต่อสู้ครับ อย่าตกเป็นเหยื่อยอมรับสภาพว่า เพราะเราแตกต่างเราถึงต้องโดน เราสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายในการคุ้มครองเราได้นะครับ เรามี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 มาใช้ ถ้าคุณถูกเลือกปฏิบัติ คุณก็ร้องเรียนต่อคณะกรรมการวินิจฉัย ซึ่งสังกัดอยู่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.) ได้ หรือถ้าเราถูก Bullying ถูกหมิ่นประมาท ก็ใช้สิทธิ์ฟ้องร้อง กฎหมายหมิ่นประมาทมี กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มี เราต้องรู้สิทธิ์ของเรา ถ้าเรายอมถูกรังแกไปเรื่อยๆ ปัญหามันก็ไม่จบ และกลายเป็นความทุกข์ทางใจของเรา”

………………………………………………………………………….

สิ่งที่เราต้องทำไปพร้อมๆ กับการรักษาสิทธิ์ คือการให้พลังใจแก่ตัวเองหรือการ empower ตัวเองครับ เราตระหนักรู้และภูมิใจในตัวเอง มองข้ามคำดูถูกเหยียดหยามและพัฒนาศักยภาพของตัวเราเอง มี LGBT เก่งๆ หลายคนที่แสดงความสามารถให้สังคมเห็นได้โดยที่สังคมยอมรับโดยไม่มองเพศวิถีของเขา เราเอาคนพวกนั้นเป็นแรงบันดาลใจที่ดีได้ และวันหนึ่งเมื่อเราประสบความสำเร็จ เราจะ empower สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ด้วย และผมอยากให้ LGBT ทุกคนเชื่อมั่นว่า เราต่างมีที่ทางของตัวเองครับ ที่ๆ เราจะเป็นตัวของเราเองได้อย่างมีความสุข วันนี้เราอาจยังต้องหาที่นั้นให้เจอ แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินไป เพราะประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่มีความเป็น LGBT friendly สูงครับ

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

ขอบคุณรูปภาพจาก Chris Phianmungsamphan

KhunAux The PeopleBlog GuySky Photo

 

ป้ายกำกับ:

เรื่องน่าสนใจ