ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 4 กรกฎาคม 2560 ) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยพระเมตตา วิริยะ อุตสาหะนำความสุขสู่ประชาชน เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แด่พระองค์
กรมสุขภาพจิต ได้ให้บุคลากรหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จิตอาสาร่วมประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ และได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชทั้งหมดที่มี 19 แห่งทั่วประเทศจัดกิจกรรมอาชีวบำบัดให้ผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการบำบัดรักษาและมีอาการดีแล้วรวมทั้งญาติผู้ป่วยด้วย ได้ร่วมประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ที่มีความหมายลึกซึ้งตามแบบที่สำนักพระราชวังกำหนด 7 ชนิด
คือดอกกุหลาบ ดอดพุดตาน ดอกลิลลี่ ดอกกล้วยไม้ ดอกชบาทิพย์ ดอกชบาหนู และดอกดารารัตน์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป ตั้งเป้าจำนวน 20,000 ดอก
“ การให้ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการดีแล้วร่วมประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ในวาระสำคัญครั้งนี้ ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์หลายต่อให้ผลทั้งด้านจิตใจ ความภาคภูมิใจและความปิติที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต ซึ่งการทำกิจกรรมเช่นดอกไม้ประดิษฐ์เช่นนี้ถือเป็นกระบวนการจัดการความรู้สึกเมื่อมีการสูญเสียคนที่ผูกพันให้กลับคืนสู่สภาวะเดิม ( Mourning process) ซึ่งสามารถใช้ได้กับประชาชนทั่วไปก็ได้
อีกทั้งผู้ป่วยจะได้รับการฝึกประสาทสัมผัส การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เนื่องจากงานประดิษฐ์เป็นงานละเอียดอ่อน และใช้ความคิดสร้างสรรค์ จึงมีผลในการฟื้นฟู ช่วยให้ผู้ป่วยมีสมาธิดีขึ้น มีสติ จดจ่องานให้เกิดความสำเร็จ โดยเมื่อเริ่มจับแค่กลีบดอกไม้จันทน์ ก็จะรู้สึกถึงความปิติได้ทันที และเมื่อทำเสร็จสมบูรณ์ ใจจะยิ่งมีความสุข เนื่องจากเป็นการทำเพื่อถวายความจงรักภักดี ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
โดยทั่วไปกระบวนการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว และแพทย์เตรียมการจำหน่ายกลับไปพักฟื้นดูแลต่อที่บ้าน ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกด้านหัตถกรรมบำบัด หรืออาชีวบำบัดเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้าน ให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้
หรือประกอบอาชีพที่ทำอยู่เดิม หรืออาจนำไปใช้สร้างอาชีพใหม่ได้ตามความถนัด ความชอบของผู้ป่วยเอง สามารถมีรายได้ไม่เป็นภาระครอบครัว ดังนั้นกิจกรรมทำดอกไม้จันทน์ครั้งนี้ จึงเป็นวาระพิเศษที่จะอยู่ในความทรงจำของผู้ป่วยและญาติตลอดไป โดยกรมสุขภาพจิตจะส่งมอบดอกไม้จันทน์ให้สถานที่ปฏิบัติงานที่ร่วมในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพต่อไป