ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

ชาวบ้านผวาพบซากค้างคาวหน้ายักษ์นับพันตัวตายเกลื่อนภายในถ้ำน้ำ เขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เจ้าหน้าที่เร่งเก็บซากส่งตรวจพิสูจน์หาสาเหตุ พร้อมสั่งงดใช้น้ำที่ไหลผ่านถ้ำชั่วคราว หวั่นมีเชื้อโรคร้ายแรงปะปน ยันไม่กระทบถึงถ้ำพระธาตุ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ด้าน ผอ.รพ.ปศุสัตว์และสัตว์ป่า “ปศุปาลัน” คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ระบุสาเหตุการตายอาจเกิดจากน้ำท่วมถ้ำ ทำให้ค้างคาวขาดอากาศหายใจ

EyWwB5WU57MYnKOuXofkVU7OxPKP55Mjee3LpjE2FUPeJeX52wU1TJ

เร่งตรวจสอบสาเหตุค้างคาวหน้ายักษ์ตายเกลื่อนถ้ำน้ำในอุทยานแห่งชาติเอราวัณครั้งนี้ เปิดเผยเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 ต.ค. นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ คณะสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และชาวบ้านเขาแก่งเรียง หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบซากค้างคาวกลุ่มค้างคาวหน้ายักษ์ ที่ตายมาราว 1 สัปดาห์ ภายในถ้ำน้ำ ด้านหลังที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.1 (ถ้ำพระธาตุ)

นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้า อช.เอราวัณ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบซากค้างคาว ราว 800-1,000 ตัว นอนตายเกลื่อนอยู่ทั่วไปในบริเวณถ้ำ จึงเก็บซากส่งตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการตายที่แท้จริง คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์จะทราบผล ส่วนซากที่เหลือได้ขุดหลุมและรองก้นหลุมด้วยปูนขาวก่อนฝังกลบ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว งดใช้น้ำที่ไหลออกจากถ้ำในการอุปโภคชั่วคราว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ แม้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากแหล่งกำเนิดเชื้อ ไปสู่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ และไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวถ้ำพระธาตุ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มี ชื่อเสียงของอุทยานฯเอราวัณ เนื่องจากถ้ำน้ำที่เกิดเหตุ อยู่ห่างจากถ้ำพระธาตุประมาณ 800-900 เมตร และยังไม่ได้รับรายงานว่าค้างคาวที่อาศัยอยู่ในถ้ำพระธาตุ ตายลงเช่นเดียวกับค้างคาวในถ้ำน้ำ

น.สพ.มาโนชญ์ ยินดี ผอ.โรงพยาบาลปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน เปิดเผยว่า กรณีชาวบ้านพบค้างคาวหน้ายักษ์ที่อาศัยอยู่ถ้ำน้ำ พื้นที่หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ล้มตายลงจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุนั้น ทีมงานคณะสัตวแพทย์ฯ เดินทางไปตรวจสอบที่ถ้ำดังกล่าวแล้วพบว่า ค้างคาวที่ตายในถ้ำมีประมาณ 800-1,000 ตัว ซากค้างคาวแต่ละตัวมีสภาพเน่าเปื่อย ส่วนตัวที่อยู่ตามซอกหินเหนือน้ำจะมีลักษณะแห้ง เบื้องต้นคาดว่าค้างคาวดังกล่าวตายมาแล้วราว 4-5 วัน เจ้าหน้าที่ได้เก็บซากค้างคาวจำนวนหนึ่งมาผ่าพิสูจน์ซาก ส่วนที่เหลือเจ้าหน้าที่อุทยานฯได้กำจัดซากด้วยการฝังกลบไปแล้ว

“สำหรับซากค้างคาวที่นำมาพิสูจน์ซาก คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จะทราบผลว่าค้างคาวที่ตายเกิดจากโรคระบาดหรือไม่ แต่ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ให้น้ำหนักในประเด็นน้ำท่วมถ้ำ ทำให้ค้างคาวขาดอากาศหายใจ เพราะจากการสังเกตผนังถ้ำพบว่า ร่องรอยระดับน้ำค่อนข้างสูง แต่เพื่อความไม่ประมาท เจ้าหน้าที่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหยุดใช้น้ำที่ไหลผ่านถ้ำออกไปก่อน จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีเชื้อโรคชนิดใดปะปนอยู่” น.สพ.มาโนชญ์กล่าว

เรื่องน่าสนใจ