กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิกที่ให้บริการเสริมความงามย่านเมืองทอง หลังพบผู้เสียหายจากการศัลยกรรม ว่า คลินิกทำนมเน่า แผลติดเชื้อ ย้ำคลินิกเวชกรรมสามารถเปิดห้องผ่าตัดเล็ก-ใหญ่ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งสถานที่ ผู้ให้บริการ อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ต้องได้คุณภาพมาตรฐาน

จากกรณี ที่เผยแพร่ข่าวผ่านสื่อต่างๆ ถึงหญิงสาวผู้เสียหายรายหนึ่ง ที่ไปทำศัลยกรรมหน้าอกในคลินิกแห่งหนึ่งย่านเมืองทองธานี แต่เกิดอาการแผลติดเชื้อ มีหนองและเลือดไหลออกมาจากหน้าอก อีกทั้งยังมีผู้เสียหายอีกหลายรายที่ยังไม่ได้เปิดเผยตัวเพราะได้เซ็นสัญญากับทางคลินิกฯ ว่าหากมีปัญหาที่เกิดจากการศัลยกรรม จะไม่มีการนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล หากผิดสัญญาจะต้องชดใช้เงินหลักแสนจนถึงหลักล้านบาท นั้น

 

เร่งตรวจสอบ คลิินิกทำนมเน่า ว่าปฏิบัติตามกฎหมายสถานพยาบาลถูกต้องหรือไม่

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) ได้ประสานงานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)นนทบุรี เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิกดังกล่าว โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวว่ามีการปฏิบัติถูกต้องตามที่กฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดหรือไม่ ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

  1. ผู้ให้บริการมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมถูกต้อง
  2. มีการขออนุญาตเปิดห้องผ่าตัดหรือไม่ หากมีการขออนุญาตถูกต้องผู้ดำเนินการมีการควบคุมมาตรฐานห้องผ่าตัด หรือไม่ และ
  3. อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ ได้คุณภาพมาตรฐานและมีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัยอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ กรม สบส.ต้องขอแจ้งว่า หากประชาชนได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลไม่ว่ากรณีใดก็ตามหากอยู่ในเขตกรุงเทพฯสามารถร้องเรียนได้ที่กรม สบส. แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถร้องเรียนได้ที่ สสจ.ในพื้นที่ โดยมิต้องเกรงว่าจะต้องชดใช้เงินตามที่ได้เซ็นสัญญาไว้กับคลินิก เนื่องจาก สัญญาดังกล่าวเข้าข่ายสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและมีผลเป็นโมฆะใช้บังคับคู่สัญญาไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการ สพรศ. กล่าวว่า คลินิกเวชกรรมสามารถขออนุญาตเปิดให้บริการห้องผ่าตัดได้ แต่จะต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 อย่างเคร่งครัด โดยห้องผ่าตัดมี 2 ขนาด คือ

  1. ห้องผ่าตัดขนาดเล็ก ให้บริการผ่าตัดขนาดเล็กที่ใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ หรือยารับประทานที่ทำให้ผู้ป่วยเคลิ้มหลับ ต้องมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 12 ตารางเมตร และ
  2. ห้องผ่าตัดขนาดใหญ่ ต้องมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 20 ตารางเมตร ให้บริการผ่าตัดขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ยาชาเฉพาะที่จำนวนมาก มีการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำเพื่อให้หลับ การดมยาสลบ หรือการผ่าตัดหลายอวัยวะพร้อมกันในคราวเดียวกัน จะต้องมีวิสัญญีแพทย์ หรือแพทย์ที่ผ่านการอบรมจากราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์เป็นผู้ดำเนินการให้ยาระงับความรู้สึก

นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีอ่างฟอกทำความสะอาดมือชนิดไม่ใช้มือเปิด-ปิด มีบริเวณทำความสะอาดเครื่องมือ และควบคุมการติดเชื้อที่เหมาะสม รวมทั้ง ต้องจัดให้มีเตียงพักฟื้น 1.5 เตียง ต่อ 1 ห้องผ่าตัด หากมีห้องผ่าตัด 1 ห้อง จะต้องมีเตียงพักฟื้น 2 เตียง แต่หากมีห้องผ่าตัด 2 ห้อง จะต้องมีเตียงพักฟื้น 3 เตียง

 

เรียบเรียงโดย โดดเด่นดอทคอม

เรื่องน่าสนใจ