นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันกระแสความนิยมความงามและการพึ่งศัลยกรรมเพื่อลดส่วนเกิน
เช่นไขมันที่หน้าท้อง ต้นขา การฉีดสารเพื่อเพิ่มสัดส่วน เติมเต็มร่องริ้วรอยบนใบหน้า เป็นต้น ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้มีผู้ฉวยโอกาส ลักลอบดำเนินการให้บริการเสริมความงาม ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่เสียโฉม จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
“ที่น่าห่วงมากขณะนี้ก็คือพื้นที่บริเวณชายแดน ซึ่งมีประมาณ 33 จังหวัด ประชาชนโดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการเดินทางเข้าออกพื้นที่ และเป็นจุดเสี่ยง เนื่องจากประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านมีความเชื่อมั่นคุณภาพ มาตรฐานการแพทย์ของไทยอยู่แล้ว
จึงอาจเป็นช่องทางฉวยโอกาสให้หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน ลักลอบให้บริการเสริมความงามแก่ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่คำนึงถึงภัยอันตรายที่เกิด บริการประเภทนี้มักจะใช้การโฆษณาแบบบอกต่อกันปากต่อปาก
จากผู้ที่เคยใช้บริการ หรือใช้แหล่งที่ให้บริการด้านการเสริมสวย เช่นร้านเสริมสวยเป็นต้น เป็นคนให้ข้อมูลแนะนำไปใช้บริการ กรม สบส.จึงได้ประสานขอความร่วมมือให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ชายแดนทั้งหมด โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังวัดในพื้นที่ดำเนินการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งกระจายอยู่ทุกชุมชน ร่วมเป็นหูเป็นตาสอดส่องเบาะแสอีกทางหนึ่ง เพื่อร่วมกันกวาดล้าง และป้องกันอันตรายจากการลักลอบให้บริการของหมอเถื่อน คลินิกเถื่อน” นายแพทย์ธงชัย กล่าว
ทางด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า สถานพยาบาลที่ให้บริการเสริมความงามทุกแห่งทั้งคลินิก หรือโรงพยาบาล ต้องขออนุญาตประกอบการกิจการกับสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ตั้งในพื้นที่นั้นๆ
โดยตามกฎกระทรวงที่ออกเมื่อพ.ศ. 2558 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ได้กำหนดลักษณะทั่วไปของคลินิกและลักษณะการให้บริการให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้บริการ โดยคลินิกที่ถูกต้องตามกฎหมายจะต้องตั้งในทำเลที่เปิดเผย สะดวก ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
อาคารมีความมั่นคงแข็งแรง บริเวณภายนอกและภายในต้องสะอาด มีห้องตรวจ ให้การรักษาเป็นสัดส่วน มิดชิด จัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นระเบียบเหมาะสม สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้สะดวกหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ติดป้ายชื่อคลินิก พร้อมแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลักชัดเจน
สำหรับลักษณะการให้บริการของคลินิก จะต้องได้มาตรฐานตามลักษณะวิชาชีพ โดยผู้ประกอบวิชาชีพต้องยื่น หนังสือแสดงความจำนงเป็นผู้ปฏิบัติงาน ในสถานพยาบาลของผู้ประกอบวิชาชีพ ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541
ส่วนพื้นที่ให้บริการจะต้องเปิดติดต่อถึงกันได้ ไม่ปะปนกับพื้นที่การประกอบอาชีพอื่น เช่นร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ในกรณีที่มีการให้บริการในอาคารเดียวกันกับการประกอบกิจการอื่นๆ จะต้องแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน และกิจการอื่นๆจะต้องไม่กระทบกับการประกอบวิชาชีพด้วย
หากประชาชนพบเห็นคลินิกที่สงสัยอาจเป็นคลินิกเถื่อน แจ้งที่สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 02-193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟสบุ๊ค สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ จะเร่งดำเนินการตรวจสอบทันที