ที่มา: voicetv

นักวิจัยเจอแมงมุมร่อน สามารถเปลี่ยนทิศทางกลางอากาศ ทดลองจับปล่อยจากกิ่งไม้สูง เจ้าตัวแบนโผกลับเข้าเกาะต้นไม้ได้อย่างเหลือเชื่อ

859458

ทีมวิจัยค้นพบแมงมุมหากินกลางคืนชนิดหนึ่งในเปรูและปานามา สามารถบังคับทิศทางของมันเองขณะลอยตัวกลางอากาศ

ในวิดีโอที่นักวิจัยเผยแพร่ เจ้าแมงมุมซึ่งมีขนาดกว้าง 2 นิ้ว ใช้ขาที่เหยียดกางออกเป็นตัวช่วยในการร่อน หลังจากร่วงเป็นระยะทางประมาณ 4 เมตร มันโผกลับเข้าเกาะต้นไม้ได้เมื่อถูกหย่อนลงจากความสูงราว 20-25 เมตร

สตีเฟน ยาโนวิแอ็ก นักนิเวศวิทยาสัตว์ขาปล้องเขตร้อน มหาวิทยาลัยหลุยส์วิล ในมลรัฐเคนทักกี หัวหน้าทีมวิจัย บอกกับเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ว่า เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายที่เจอพฤติกรรมร่อนในแมงมุม ไม่เคยมีการพบแมงมุมบังคับทิศทางในอากาศได้เช่นนี้มาก่อน

859461

แมงมุมดังกล่าวจัดอยู่ในสกุลเซเลนอปส์ ด้วยเหตุที่ตัวมันมีรูปร่างแบน ทีมวิจัยจึงตั้งชื่อเล่นให้ว่า เจ้าตัวแบน
โรเบิร์ต ดัดลีย์ นักชีววิทยาบูรณาการ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ นักวิจัยร่วม บอกว่า ข้อสันนิษฐานคือ สัตว์ที่อาศัยตามต้นไม้ ตั้งแต่งู กิ้งก่า แมงมุม จนถึงมด ล้วนบินร่อนได้ เพื่อหลีกหนีสัตว์ผู้ล่าไปยังต้นไม้ที่ใกล้ที่สุด

ทั้งสองศึกษาพวกแมลงร่อนในป่าเขตร้อนมานานนับทศวรรษ หลังจากค้นพบมดตัวหนึ่งโผกลับเข้าเกาะต้นไม้ได้เมื่อถูกเขี่ยตกจากกิ่งไม้ เพื่อหลบหลีกสัตว์ผู้ล่าบนพื้นป่า ทั้งคู่ทำการทดลองที่พิลึกอย่างหนึ่ง นั่นคือ จับสัตว์ขาปล้องทุกชนิด ไม่ว่าแมลงหรือแมงมุม โยนลงจากต้นไม้ แล้วดูว่าพวกมันจะทำอย่างไร

ทีมวิจัยพบว่า มดกับแมงมุมกำหนดทิศทางการร่วงหล่นของตัวเองได้ ยิ่งเป็นพวกมีปีกอย่างแมลงสาบ ตั๊กแตน แมลงกิ่งไม้ และแมลงเปลือกแข็ง ยิ่งร่อนเก่ง

ในรายงานซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Interface of the Royal Society นักวิจัยบอกว่า มีหลายคำถามต้องค้นคว้าต่อไป เช่น แมงมุมพวกนี้มีสายตาดีแค่ไหน พวกมันพุ่งเป้าเข้าหาต้นไม้ได้อย่างไร เส้นขนของมันมีผลต่อการลู่ลมหรือไม่.

คลิปจาก National Geographic

เรื่องน่าสนใจ