เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) มอบเงินทุนจำนวนราว 200,000 ดอลลาร์ ให้กับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย เคลมสัน สหรัฐอเมริกา สำหรับใช้ในการพัฒนาระบบในการปรับเปลี่ยนของเสียทั้งหลายจากร่างกายมนุษย์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้งในรูปของอาหารและวัสดุที่จำเป็นในการใช้ชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศเป็นระยะเวลานาน
มาร์ค เบลนเนอร์ ศาสตราจารย์จากภาควิชาเคมี และวิศวชีวภาพของมหาวิทยาลัยเคลมสัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมวิจัยดังกล่าว เชื่อว่ายีสต์ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม สามารถนำมาใช้ในการเปลี่ยนของเสียหลายอย่างที่ถูกขับออกจากร่างกายของมนุษย์อวกาศ ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปของสิ่งของที่จำเป็นดังกล่าวได้ หากระบบนี้สามารถพัฒนาขึ้นมาได้สำเร็จ มนุษย์อวกาศไม่เพียงมีสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอยู่ยาวนานในห้วงอวกาศเท่านั้นยังไม่จำเป็นต้องหาวิธีการกำจัดของเสียต่างๆดังกล่าวทิ้งอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ นักบินอวกาศของนาซา ประสบความสำเร็จในการปลูกและชิมผักที่ปลูกเองในห้วงอวกาศเป็นครั้งแรกไปแล้ว และเนื่องจากนาซามีโครงการที่จะส่งมนุษย์ไปดาวอังคารภายในปี 2030 ดังนั้นจึงให้ความเห็นชอบกับแนวความคิดของศาสตราจารย์ เบลนเนอร์ เพื่อหาหนทางให้นักบินอวกาศสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองในภารกิจระยะยาวทำนองดังกล่าว
ในเวลาเดียวกันกับการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยอื่นๆ ที่รวมถึงแผงโซลาร์เซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เกราะป้องกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่มีอยู่เมื่อต้องเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงอื่นๆหรือโครงสร้างที่สามารถพับเก็บได้และนำมาประกอบใหม่ได้เพื่อง่ายต่อการขนย้ายเป็นต้น
เบลนเนอร์ระบุว่า สายพันธุ์จำเพาะบางชนิดของยีสต์เมื่่อนำมาปรับแต่งพันธุกรรม จะสามารถเปลี่ยนของเสียของคนเราให้กลายเป็นอะไรๆ ได้หลายอย่างมาก ตั้งแต่ “โอเมก้าทรี” ที่อยู่ในรูปของอาหาร ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจของคนเราลง และสามารถปกป้องผิวหนังและผมของคนได้ เรื่อยไปจนถึงการผลิต “โพลีเมอร์” หรือพลาสติกที่ใช้กับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
กระบวนการดังกล่าวมีหลายขั้นตอน แต่โดยหลักการคือการใช้ไนโตรเจน ซึ่งมีอยู่มากมายอยู่ในปัสสาวะของมนุษย์ กับสาหร่ายที่สามารถสร้าง ลิพิด หรือไขมันจากคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งออกมาจากลมหายใจของมนุษย์ จะเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการป้อนให้กับยีสต์ที่สามารถเปลี่ยนลิพิดและไนโตรเจนดังกล่าวให้กลายเป็น พลาสติกหรือโอเมก้าทรี ได้
ทีมวิจัยของเบลนเนอร์สามารถสร้างยีสต์ ซึ่งผลิตพลาสติกดังกล่าวขึ้นได้ด้วยการนำเอาพันธุกรรมจากจุลชีพอย่างอื่นที่โดยธรรมชาติแล้วสามารถสร้างโพลีเมอร์ขึ้นมาจากลิพิดได้แต่เพาะเลี้ยงได้ยากกว่ายีสต์มาตัดต่อเข้ากับพันธุกรรมของยีสต์และสร้างยีสต์ที่เปลี่ยนลิพิดเป็นโพลีเมอร์หรือพลาสติกได้สำเร็จ
ก่อนหน้านี้ นักบินอวกาศสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในทดลองใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติในสถานีอวกาศนานาชาติ พลาสติกเป็นวัตถุดิบในการพิมพ์อะไหล่ เครื่องมือใหม่ๆ หรืออื่นๆ แต่ในการเดินทางเป็นระยะเวลานานในห้วงอวกาศเราไม่สามารถนำพลาสติกสำรองไปมากๆ ได้แน่นอน การผลิตพลาสติกใช้ได้เองจึงมีประโยชน์มหาศาล
เบลนเนอร์มีระยะเวลาในการพัฒนาระบบนี้ 3 ปี และแม้ว่ายังไม่แน่ใจนักว่าเมื่อแล้วเสร็จแล้ว ระบบดังกล่าวนี้จะมีขนาดเท่าใด
แต่เป้าหมายขณะนี้ก็คือต้องมีขนาดพอเหมาะกับการติดตั้งบนยานอวกาศลำหนึ่งได้นั่นเอง