วันนี้ ( 22 ธันวาคม 2559) ที่ จังหวัดสิงห์บุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ติดตามการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านสาธารณสุข
การดำเนินงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปี 2560 เขตสุขภาพที่ 4 และการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัวบ้านทองเอน ซึ่งเป็นคลินิกหมอครอบครัวแห่งแรกในพื้นที่ชนบท ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทองเอน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับรูปแบบระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ โดยมีทีมหมอครอบครัวเป็นที่ปรึกษาและร่วมดูแลด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นประจำ ให้บริการทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี
รวมทั้งให้โรงพยาบาลจังหวัดและอำเภอจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว จัดบริการปฐมภูมิให้ประชาชนที่เข้าถึงบริการยากลำบากทั้งในเขตเมืองและชนบท จากความแออัดหรือจากการเดินทาง ในปีงบประมาณ 2560 ตั้งเป้าดำเนินการใน 76 จังหวัด 424 แห่ง และมีทีมหมอครอบครัวแห่งละ 1 ทีม ส่วนกรุงเทพมหานครดำเนินการใน 3 เขต เขตละ 1 ทีม ทั้งนี้ ในปี 2564 ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 3,250 ทีมและให้ครบ 6,500 ทีม เพื่อดูแลประชาชนทั่วประเทศภายในปีงบประมาณ 2569
สำหรับจังหวัดสิงห์บุรี มี 6 อำเภอ ดูแลประชากร 196,800 คน มีแผนดำเนินการจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว 6 แห่ง และจัดทีมหมอครอบครัว 20 ทีม ในปี 2560 มีแผนจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว 3 แห่ง เป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลสิงห์บุรี ที่ รพ.สต.บางกระบือ รพ.บางระจันที่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ต.พักทัน และรพ.อินทร์บุรี ที่ รพ.สต.ทองเอน
โดยคลินิกหมอครอบครัวบ้านทองเอนเป็นคลินิกหมอครอบครัวแห่งแรกที่ตั้งขึ้นในพื้นที่ชนบท ดูแลประชากร 8,177 คน เพื่อรองรับประชาชนที่อาศัยอยู่ฝั่งตะวันออกของถนนสายเอเชีย ซึ่งการเดินทางมาโรงพยาบาลแม่ข่ายค่อนข้างลำบาก ต้องข้ามถนนสายเอเชียและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีทีมหมอครอบครัว 6 ทีม มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คน
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2560 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ตั้งเป้าเร่งรัดงานสำคัญที่เป็นปัญหาในพื้นที่ 6 เรื่องคือ การจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว พร้อมระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน การแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็กนักเรียน ปัญหายาเสพติด โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) อุบัติเหตุจราจร และอาหารปลอดภัย
โดยเฉพาะการจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้ จ.สิงห์บุรีเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุร้อยละ 24.57 มีอัตราส่วนประชากรวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุเท่ากับ 2.53 : 1
ในขณะที่ระดับประเทศอยู่ที่ 3.98 : 1 จำเป็นที่ต้องเร่งรัดจัดระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลมีภาวะสุขภาพดีขึ้น โดยมีผู้สูงอายุและผู้พิการที่ต้องได้รับการดูแล 3,678 คน ร้อยละ 73.46 เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวได้บ้าง มีปัญหาการกินและขับถ่ายบ้าง จำเป็นที่ต้องมีแผนการดูแลด้วยผู้ดูแลที่ผ่านการอบรม เพื่อให้ไม่ทรุดหนักเป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ขณะนี้มีระบบดูแลผู้สูงอายุแล้วใน 22 ตำบล ตั้งเป้าจะพัฒนาให้ครบทั้ง 43 ตำบล ภายในปี งบประมาณ 2561