ทีมปราบคลินิกเถื่อน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกจับคลินิกย่านจังหวัดปทุมธานี ใช้แพทย์ปลอม ลวงขายยาลดอ้วนชื่อ ฟิต โคลสลี่ อ้างเป็นสมุนไพร มีงานวิจัยความเชื่อถือ ทางไลน์กลุ่มพูดคุยสุขภาพและชวนทดลอง หลังใช้ยาปรากฎมีอาการปวดศีรษะ ท้องเสียอย่างรุนแรง ปากลิ้นชา ใจสั่น นอนไม่หลับ
พร้อมย้ำเตือนประชาชนระวัง การโฆษณาแฝง ในสื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะยาลดอ้วน ขอให้พบแพทย์ที่รพ.หรือคลินิกมีแพทย์รักษาที่มีหลักฐานถูกต้องกฎหมาย และแจ้งเบาะแสที่มือปราบสถานพยาบาลเถื่อนตลอด 24 ชั่วโมง
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ที่จังหวัดปทุมธานี นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.)พร้อมเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรมสบส. ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี เข้าตรวจสอบ คลินิกเมดิซีน ตั้งอยู่เลขที่ 99/111-2 หมู่ 13 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนว่าคลินิกแห่งนี้ได้ทำการเปิดการรักษาโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการลักลอบจำหน่ายยาลดน้ำหนักที่ได้เพิกถอนทะเบียนตำรับยาไปแล้ว ยี่ห้อฟิตโคลสลี (Fit Closely) โดยอ้างว่าทำจากสมุนไพร มีงานวิจัยรองรับ วิธีการขายจะชวนสมาชิก เข้ากลุ่มไลน์ (LINE) คุยเรื่องสุขภาพ หลังจากนั้นจะชวนทดลองใช้ยา และสั่งซื้อยาดังกล่าวผ่านทางไลน์กลุ่มของคลินิก
นอกจากนี้ยังขยายผลไปถึงกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชวนนักศึกษาเป็นตัวแทนจำหน่ายยาดังกล่าวทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และพระนครศรีอยุธยา หลงเชื่อและซื้อยาไปกินทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ท้องเสียอย่างรุนแรง ใจสั่น ปากและลิ้นชา นอนไม่หลับ ท้องผูก จึงร้องเรียนไปที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรืองฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบสถานพยาบาลดังกล่าวพบว่าเป็นคลินิกเวชกรรม ซึ่งมี นายสมรัช เรียงเครือ อายุ 32 ปีเป็นเจ้าของสถานที่ เบื้องต้นพบการกระทำความผิด 6ข้อหา ได้แก่
ของกลางที่ตรวจพบในวันนี้มีมากกว่า 20 รายการ ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น กาแฟเครื่องสำอาง เช่น สบู่ และวิตามินซีชนิดฉีด และยาลดความอ้วนชนิดแคปซูลบรรจุแผงละ 10 แคปซูล ยี่ห้อฟิตโคลสลี (Fit Closely) จะส่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการตรวจสอบส่วนประกอบหากพบว่ามีสารต้องห้าม จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
“ขณะนี้ กระแสสุขภาพกำลังมาแรง ประชาชนให้ความใส่ใจในกระแสสุขภาพกันมากขึ้นแต่ขณะเดียวกันขอย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง การโฆษณาชวนเชื่อทางสื่อทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และอินเทอร์เน็ต ซึ่งขณะนี้มักจะแฝงในรูปแบบของเรื่องสุขภาพมากขึ้นและมีรูปแบบทั้งโฆษณาโดยใช้ดารา หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม มาเป็นผู้แนะนำสนค้า ผลิตภัณฑ์ และนำผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ออกมาพูดถึงผลต่อสุขภาพตนเองหลังใช้เป็นเสมือนผู้ให้การรับรองสรรพคุณแทน
รวมทั้งการตั้งกระทู้ถามทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจจะทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และอาจจะตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อได้ ดังนั้นประชาชนจะต้องรู้เท่าทัน และเลือกใช้ช่องทางที่ถูกต้องในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้บริการ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน
ซึ่งขณะนี้กรม สบส. ได้จัดทำระบบอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานพยาบาลภาคเอกชน/คลินิกได้รับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 14,330 แห่ง ในหน้าเว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งกว่า 94เปอร์เซ็นต์มีการระบุพิกัดที่ตั้งชัดเจน จะเร่งทำให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2559 นี้” นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรืองฯ กล่าว
ด้าน นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่าในการเลือกรับบริการจากสถานพยาบาล และคลินิกทุกประเภท ขอให้ประชาชนสังเกตหลักฐานต่างๆ ที่สถานพยาบาลจะต้องแสดงตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ดังนี้
หากมีข้อสงสัยหรือพบสถานพยาบาลและหมอเถื่อนสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่เว็บไซต์สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์(http://www.mrd.go.th/mrdonline2014),เฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ (สพรศ.), เฟซบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน และสายด่วน สบส. 02-193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง