เนื้อหาโดย Dodeden.com
ปัญหาผมบางและผมร่วงในผู้หญิง แม้จะไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่อาจทำให้สาวๆสูญเสียความมั่นใจไปก็ได้ เราจะพาคุณมาค้นหาสาเหตุและวิธีแก้ไขกันค่ะ
ผมบาง ผมร่วง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะเมื่อไว้ผมยาว หรือบางคนอาจเจอกรณีเส้นผมขาดขณะหวี ในขณะที่บางคนมักชอบเผลอดึงผมตัวเองโดยไม่รู้ตัว เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ทําให้เส้นผมของเราบางลง ซึ่งสาเหตุหลักๆ ของปัญหาผมร่วงนั้น เกิดขึ้นได้จาก 4 สาเหตุ
อันแรกที่พบบ่อย คือผมบางจากพันธุกรรม มักพบในเพศชายมากกว่าหญิง โดยความบางก็จะแตกต่างกันไป สําหรับผู้ชาย ผมจะบางบริเวณด้านหน้า ส่วนผู้หญิงมักบางบริเวณหนังศีรษะด้านบน อันที่สองคือผมผลัดมากกว่าปกติ อาจจะเกิดจากภาวะเครียดจัด เจ็บป่วย ผ่าตัด หรือคลอดบุตร ตลอดจนการกินยาบางชนิดก่อนหน้านั้นประมาณ 3-6 เดือน เช่น ยารักษาสิว ยาคุม ยากันชัก ยาความดันโลหิตสูง และยาลดความอ้วน อันที่สามคือเป็นโรคดึงผมตัวเอง พบบ่อยในผู้หญิง สาเหตุอาจเกิดจากความเครียดหรือมีความกังวลใจ ทําให้รู้สึกอยากดึงผมตัวเอง และพอดึงแล้วจะรู้สึกสบายใจขึ้น สุดท้ายคือโรคผมร่วง เกิดจากการที่ภาวะร่างกายมีภูมิคุ้มกันไวต่อรากผม อาจเกิดจากพันธุกรรมหรือมีภาวะควบคู่บางอย่าง เช่น เป็นไทรอยด์ และโรคด่างขาวสะเก็ดเงิน หรือบางคนเคยรักษาสิว การได้รับยาประเภทสเตียรอยด์ก็อาจทําให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยมีผมร่วงเป็นหย่อมๆ รายที่เป็นมากอาจเป็นทั่วศีรษะ และอาจมีขนคิ้วหรือขนตามตัวร่วงด้วย
รักษาอย่างไร?
เช่นเดียวกับความยืดหยุ่นของผิวหนัง เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น เส้นผมก็จะบางลงตามธรรมชาติ เพราะการสร้างใหม่ของเส้นผมลดลงตามปกติ การหาทางรักษา เบื้องต้นด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็นการซื้อแชมพูที่มีคุณสมบัติแก้ปัญหาผมร่วง หรือซื้อยามากินเอง หากรักษาไม่ถูกจุดอาจกลายเป็นปัญหาลุกลามและรุนแรง ทางที่ดีควรไปพบแพทย์ผู้เขียวชาญเพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากปัจจุบันวิธีการรักษามีทั้งกินยา การใช้เลเซอร์ และการรักษาแนวใหม่ที่เรียกว่า PRP
การรักษาผมร่วงในผู้ชายกับผู้หญิงจะต่างกัน อย่างยาทาในผู้หญิงที่มีการรับรองว่าได้ผลและปลอดภัยนั้น มีเพียงชนิดเดียวชื่อว่า ไมนอกซิดิล (Minoxidil) ส่วนผู้ชายสามารถทายาชนิดนี้ได้เช่นกัน หรือกินยารักษาที่ชื่อฟีนาสเทอไรด์ (Finasteride) สําหรับการใช้เลเซอร์รักษาภาวะผมบางนั้น มีการพัฒนาในหลาย รูปแบบ เช่น เลเซอร์ที่เป็นหวี หรือแบบเป็นหมวก ลักษณะเหมือนที่ใช้อบไอน้ำผม ซึ่งอาจมีส่วนช่วยให้เส้นผมขึ้นใหม่ได้ แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาในระยะยาวว่า การใช้เลเซอร์ที่หนังศีรษะวันละ 10-15 นาที ประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปีจะส่งผลเสียอะไรหรือไม่ ที่สําคัญคือการใช้เลเซอร์ไม่สามารถรักษาโรคเกี่ยวกับผมได้ทุกโรค จึงถือว่าเป็นเพียงการรักษาเสริมเพิ่มจากการกินยาและทายาเท่านั้น
นอกเหนือจากนี้ ปัจจุบันมีการรักษาวิธีใหม่ที่กําลังมาแรงคือ PRP (Platelet-Rich Plasma) เป็นการฉีดกระตุ้นที่หนังศีรษะเพื่อให้มีการสร้างเส้นผมขึ้นใหม่ จากรายงานเบื้องต้นพบว่าวิธีดังกล่าวจะได้ผลดีสําหรับผู้มีปัญหาผมบางจากพันธุกรรม แต่ปัจจุบันทางสํานักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) ยังไม่ได้รับรองว่าเป็นวิธีรักษาโรคผมร่วงแต่อย่างใดค่ะ