ผมร่วงและรังแค ปัญหาที่แก้ไม่หายของใครหลายๆ คน แต่ความรุนแรงนั้นอาจแตกต่างกันไป ปัญหาผมร่วงมีตั้งแต่ร่วงเล็กน้อย ร่วงเป็นหย่อม ไปจนถึงร่วงมาก จนเกิดภาวะผมบาง ศีรษะล้านกันเลยก็มี ส่วนปัญหารังแคนั้น มักมีความสัมพันธ์กับภาวะผมร่วง เพราะรังแคเกิดจากการอักเสบของหนังศีรษะ ทําให้เกิดปัญหาผมร่วงตามมาได้ และรังแคยังสร้างความหงุดหงิดรำคาญ จากอาการคัน และสิ่งสําคัญคือทําให้สูญเสียบุคลิกภาพ และความมั่นใจ เพราะอาจร่วงหลุดอยู่ตามเสื้อผ้า หรืออาจจะเกาะติดอยู่ตามเส้นผม ทําให้มองเห็นได้

 

ผมร่วงและรังแค
ภาพจาก netdoctor.co.uk

 

สาเหตุของปัญหาผมร่วง

  • ผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน (Androgenetic alopecia)
    หรือที่เรียกว่าศีรษะล้าน เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด
  • ผมร่วงจากการอักเสบของหนังศีรษะและรังแค (Seborrheic dermatitis and dandruff)
  • โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata)
    เกิดจากการที่เม็ดเลือดขาวทํางานผิดพลาด มาทําลายบริเวณรากผม
  • สาเหตุอื่นๆ
    เช่น ผมร่วงจากโรค Telogen Effluvium หรือ ที่เรียกกันว่า จับไข้หัวโกร๋น ซึ่งเกิดหลังจากอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย (ไม่ใช่โดนผีหลอกอย่างที่หลายคนเข้าใจ) หรืออาจจะเกิดจากการทานยาบางชนิด ก็ทําให้เกิดการร่วงลักษณะนี้ได้

 

 

ผมร่วงและรังแค
ภาพจาก windsordermatology.com

 

ปัญหาผมร่วง มักเกิดในคนกลุ่มใด?
จริงๆ แล้ว ปัญหาผมร่วงเกิดได้กับคนทุกกลุ่มอายุ แต่ถ้าเป็นปัญหาเฉพาะโรค เช่น ผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน หรือศีรษะล้าน จะพบได้ในคนที่มีอายุ 18-20 ปีขึ้นไป แต่ในวัยนี้ พบได้ไม่มากสําหรับเพศชาย ส่วนใหญ่จะพบภาวะนี้ในวัยกลางคนที่มีอายุตั้งแต่ 35-40 ปีขึ้นไป และยิ่งอายุมากขึ้น ก็มีโอกาสเกิดโรคผมบาง ศีรษะล้านได้มากขึ้นด้วย ส่วนเพศหญิง อาจพบภาวะนี้ได้ 2 ช่วง ช่วงแรกก็คือหลังคลอดบุตร และช่วงที่ 2 ก็คือหลังวัยหมดประจําเดือน สําหรับภาวะผมร่วงในเด็กเล็กๆ ไม่ค่อยมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม แต่ในเด็กเล็ก อาจเจอภาวะผมร่วงเป็นหย่อมได้ ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเส้นผม

การป้องกันปัญหาผมร่วง
ถ้าเป็นปัญหาผมบางจากพันธุกรรมหรือฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมอาจทําได้ยาก ดังนั้น วิธีการป้องกันที่สามารถทําได้คือ การดูแลรักษาสุขภาพโดยทั่วไปให้ดี เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมง/วัน ทานอาหารที่ดีให้ครบ 5 หมู่ ออกกําลังกายให้เพียงพออย่างน้อยประมาณ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง สิ่งเหล่านี้จะช่วยชะลอภาวะผมร่วงให้เกิดช้าลงได้ เพราะเป็นการทําให้ร่างกายไม่เสื่อม หรือแก่เร็วเกินไป

ปัญหาผมร่วงอาจป้องกันได้บ้างในคนที่เป็นจากสาเหตุของหนังศีรษะอักเสบ (Seborrheic dermatitis) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มจํานวนของเชื้อรา Malassezia บนหนังศีรษะ คืออาจจะใช้แชมพูขจัดรังแค เช่น 2% Ketoconazole shampoo, Tar shampoo, Selenium sulfide shampoo, 1.5%. Ciclopirox shampoo, 1% Zinc pyrithione shampo0 อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อลดการเกิดรังแค ซึ่งจะลดการหลุดร่วงของเส้นผมได้

 

ผมร่วงและรังแค
ภาพจาก malasseziasite

 

แนวทางการรักษาปัญหาผมร่วง
หากพบได้เร็ว จะเป็นการดี คือเราต้องมีการสํารวจตัวเอง เช่น มีภาวะผมร่วงเป็นหย่อม มีผมบาง หรือมีศีรษะเถิกเข้าไปหรือไม่ ตรงกลางบางหรือเปล่า โดยอาจจะให้ญาติพี่น้องช่วยดูให้ก็ได้ หรือใช้การนับเส้นผมที่ร่วง ว่าอยู่ในภาวะปกติหรือไม่ (ในภาวะปกติ ในวันที่ไม่ได้สระผม ผมที่ร่วงไม่ควรเกิน 100 เส้น/วัน ส่วนในวันที่สระผม ไม่ควรเกิน 200 เส้น/วัน) ถ้าพบว่ามีความผิดปกติ แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก เช่น อาจรักษาโดยการใช้ยากิน ยาทา หรือใช้การรักษาโดยการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม ซึ่งมักใช้ในคนที่เป็นโรคผมบาง ศีรษะล้านจากพันธุกรรม หรือฮอร์โมน

รักษาปัญหาผมร่วงโดยการใช้ยา
จะมีทั้งยาที่ใช้ทาน และยาทา ในเพศชายยาทามักใช้ ไมนอกซิดิล โซลูชั่น (Minoxidil Solution) ส่วนยาที่ใช้ทาน จะเป็นยาในกลุ่มของ ฟีแนสเตอร์ไรด์ (Finasteride) ซึ่งเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์เข้าไปยับยั้งเอนไซม์ 5-alpha-reductase ซึ่งเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศชายให้ออกฤทธิ์ และทําให้เกิดภาวะผมร่วงในเพศชาย ส่วนเพศหญิง ไม่สามารถใช้ยากลุ่มฟีแนสเตอร์ไรด์ได้ จะใช่ได้เพียงยาในกลุ่มของพวกยาทา ไมนอกซิดิล โซลูชั่น (Minoxidil Solution) ซึ่งเป็นสารละลาย ที่จะช่วยทําให้มีผมขึ้น และกําจัดสาเหตุและปัจจัยที่อาจทําให้ผมบางเพิ่มขึ้น เช่น ภาวะซีด ที่พบได้บ่อยจากการมีประจําเดือน นอกจากนี้ ยังอาจทานพวกธาตุสังกะสีเสริมก็ได้

 

ผมร่วงและรังแค
ภาพจาก dconheels.com

 

รังแค (Dandruff)
เป็นอาการแสดงของการมีการอักเสบของหนังศีรษะ (Seborrheic dermatitis) ซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นแดง ขอบเขตไม่ชัดเจน และมีขุยขาวๆ ที่เราเรียกว่ารังแค ซึ่งจริงๆ แล้ว คือส่วนของหนังศีรษะที่หลุดลอกออกมานั้นเอง รังแคนั้น
มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มจํานวนของเชื้อรา Malassezia บนหนังศีรษะ ซึ่งจะกระตุ้นให้หนังศีระษะเกิดการอักเสบ ทําให้เกิดปัญหาผมหลุดร่วงตามมา ส่วนสาเหตุที่ทําให้เกิดเชื้อราชนิดนี้ไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่
เชื่อว่าน่าจะมาจากความเครียด อดนอน พักผ่อนน้อย ปกติแล้วในคนทั่วไป ก็มีเชื้อราตัวนี้อยู่ แต่ปริมาณจะไม่มากเท่ากับคนที่มีปัญหาเรื่องหนังศีรษะอักเสบ ซึ่งปริมาณของเชื้อราจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

ความสัมพันธ์ของรังแคกับปัญหาผมร่วง
เมื่อมีรังแค มักทําให้เกิดภาวะผมร่วงมากกว่าปกติ เช่น ผมเคยร่วงวันละ 20-30 เส้น อาจจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 50-60 เส้น (เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า) และนอกจากนี้รังแคยังอาจทําให้โรคผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมนเกิดเร็วขึ้นด้วย คนที่มีปัญหารังแค จึงควรรีบรักษา นอกจากนี้ ควรสระผมให้สัมพันธ์กับลักษณะกิจกรรมที่ทำด้วย เช่น คนที่ต้องทํากิจกรรมกลางแจ้ง มีการออกกําลังกาย เล่นกีฬามาก หนังศีรษะมัน อาจจะต้องสระผมบ่อยกว่าคนที่ไม่ค่อยได้ออกไปไหน 

………………………………………….

ไม่ว่าจะเป็นปัญหารังแค หรือปัญหาผมร่วง ผมบาง ล้วนเป็นโรคที่รักษาได้ ไม่ควรที่จะเก็บปัญหาไว้คนเดียว ควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อที่จะรีบรักษาให้หายเร็วขึ้น ไม่ต้องมานั่งเสียสุขภาพจิต เสียสุขภาพกายค่ะ

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ