ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

สเตฟเฟน ซูธเธอร์ นักภูมินิเวศวิทยา ผู้ประสานงานระหว่างประเทศของสำนักงานความริเริ่มอนุรักษ์อัลติน ดาลา ในกรุงอัสตานา ประเทศคาซักสถาน ลงพื้นที่บริเวณทุ่งหญ้ากว้างใหญ่เพื่อศึกษาวิจัยด้วยการสังเกตการณ์การตกลูกของฝูง “ไซกา” สัตว์เท้ากีบจำพวกกวาง ที่ภาษาไทยเรียกว่า “กุย” หรือ “กวางกุย” เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลับได้รับทราบข่าวใหญ่จากบรรดาสัตวแพทย์ในพื้นที่ว่ากวางกุยเริ่มล้มตายลงเป็นจำนวนมาก

14418686111441868662l

ในตอนแรกทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเมื่อปีที่ผ่านมา “กุย” ในบริเวณดังกล่าวก็เกิดการล้มตายลงกว่าหมื่นตัวเช่นเดียวกัน แต่กลับเป็นว่าจำนวนการล้มตายของกวางกุยไม่เพียงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนเท่านั้น ยังเพิ่มระดับความเร็วขึ้นจนน่าแตกตื่น ภายในระยะเวลาเพียง 4 วัน กวางกุยทั้งฝูงที่มีประชากรรวมราว 60,000 ตัว ก็ตายลงจนหมด

ในเวลาเดียวกันนั้น ก็มีข่าวฝูงกุยสัตว์ที่อยู่ในบัญชีสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤตของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์นานาชาติ(ไอยูซีเอ็น) ฝูงอื่นๆ ในคาซักสถานก็เริ่มล้มตายลงเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน ในขณะที่สัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์ยังหาสาเหตุไม่เจอนั้น จำนวนกุยเท่าที่มีทั้งหมดในคาซักสถาน ซึ่งมีการประเมินไว้เมื่อปี 2014 ว่ามีราว 257,000 ตัว ก็ล้มตายลงมากกว่าครึ่ง

กุยเมื่อวัดจากไหล่สูงประมาณ 0.6-0.8 เมตร ลำตัวระหว่าง 108-146 เซนติเมตร หนัก 36-63 กิโลกรัม ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีเขาซึ่งยาว 20-25 เซนติเมตร ลักษณะเด่นที่สังเกตได้ง่ายของไซกา หรือกุยก็คือ จมูกที่มีขนาดใหญ่และยืดหยุ่นได้ มีรูปร่างแปลกเหมือนจมูก “สมเสร็จ” ทำหน้าที่ในการอุ่นอากาศหายใจในฤดูหนาวและกรองฝุ่นออกในฤดูร้อน ในหน้าร้อน ขนของกุยจะบางและมีสีเหลืองอบเชยแต่ในฤดูหนาวจะเปลี่ยนสีเป็นสีขาวเพิ่มความยาวขนขึ้นเพื่อรองรับอากาศหนาว

ปัจจุบันกุย หรือ ไซกา มีอยู่มากที่สุดในคาซักสถาน ที่มีอยู่ราว 2-3 ฝูง ในรัสเซียมีฝูงเล็กๆ อยู่ 1 ฝูง กับอีก 1 ฝูงในมองโกเลีย กุยจะรวมฝูงกันในหน้าหนาวและใบไม้ร่วง ก่อนที่จะแยกฝูงออกไป ทิ้งตัวเมียไว้ให้ตกลูกในปลายฤดูใบไม้ผลิและต้นหน้าร้อน การตายหมู่ปริศนาครั้งนี้เริ่มในฤดูตกลูกของกุยนี่เอง

เจ้าหน้าที่ภาคสนามเก็บตัวอย่างสภาพแวดล้อมที่กุยล้มตายมาวิเคราะห์ตั้งแต่ก้อนหินไปจนถึงดิน น้ำ และพืชอาหาร รวมไปถึงแมลงต่างๆ อาทิ หมัดและแมลงอื่นๆ ที่กัดกินเลือด เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุและหาทางป้องกันต่อไป

ที่น่าแปลกก็คือ การล้มตายเริ่มต้นจากกลุ่มตัวเมียที่แยกฝูงออกจากตัวผู้มาหาพื้นที่สำหรับตกลูก ต่อมาก็เป็นกลุ่มลูกกุยที่เพิ่งคลอดใหม่ ยังไม่สามารถกินอาหารเองได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สาเหตุของการตายสามารถถ่ายทอดผ่านนมแม่ที่ลูกกุยกินเป็นอาหารนั่นเอง

เมื่อนำตัวอย่างเนื้อเยื่อของกุยที่ล้มตายมาตรวจสอบพบพิษซึ่งเกิดจากแบคทีเรีย พาสเจอเรลลา หรือเป็นไปได้ว่าเกิดจากแบคทีเรีย คลอสทรีเดีย พิษของแบคทีเรียดังกล่าวทำให้เกิดการตกเลือดในอวัยวะภายในจนตายในที่สุด อย่างไรก็ตาม ที่น่าแปลกก็คือ พาสเจอเรลลาเป็นแบคทีเรียที่พบเห็นทั่วไปในไซกา และสัตว์เคี้ยวเอื้องทั้งหลาย และไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ถ้าหากภูมิคุ้มกันของมันยังคงปกติ

ซูธเธอร์เชื่อว่าสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ร่างกายของไซกาหรือกุยตอบสนองต่อแบคทีเรียแตกต่างออกไปจากเดิม แต่ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่

แต่ซูธเธอร์และทีมงานเตรียมค้นคว้าวิจัยอย่างละเอียดต่อไปเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเดียวกันขึ้นอีกในปีหน้า

เรื่องน่าสนใจ