เนื้อหาโดย Dodeden.com

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการเสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่าตลอดหลายปีแห่งการครองสิริราชสมบัติที่ผ่านมา ไม่มีพื้นที่ใดในประเทศไทยที่ไม่เคยเสด็จพระราชดําเนินไปถึง การเสด็จพระราชดําเนินของพระองค์ นอกจากได้ทรงทราบถึงทุกข์สุข สภาพความเป็นอยู่ และปัญหาที่แท้จริงของพสกนิกรด้วยพระองค์เอง ทรงคิดค้นหาวิธีขจัดความทุกข์ยากและความเดือดร้อนของพสกนิกร อันเป็นที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริต่างๆ แล้ว…

พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดําเนินไปทอดพระเนตรโบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งโบราณคดี และแหล่งประวัติศาสตร์ทั่วทุกภาคของประเทศหลายครั้ง ทั้งที่เป็นพิธีการและเป็นการส่วนพระองค์ เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้เกี่ยวข้องว่า ทรงห่วงใยและทรงเข้าพระทัยอย่างถ่องแท้ในความสําคัญของโบราณสถาน โบราณวัตถุเหล่านั้น พร้อมทั้งพระราชทานแนวพระราชดําริในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บูรณะ และเผยแพร่ให้แก่ผู้รับผิดชอบตลอดมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ทรงมีต่อแหล่งมรดกวัฒนธรรมไทย 

finearts

เสด็จพระราชดําเนินพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในสมัยรัตนโกสินทร์ (ยกเว้นพระองค์ที่ 2 และ 3) ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกตําแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. 2428 พระราชวังบวรสถานมงคลจึงว่างอยู่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระที่นั่งส่วนหน้าของพระราชวังบวรสถานมงคล 3 องค์ คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ให้เป็นที่จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุ โปรดเกล้าฯ ให้ย้าย “มิวเซียม” จากหอคองคอเดีย ภายในพระบรมมหาราชวังอันเป็นที่ตั้งเดิม เมื่ พ.ศ.2430 และเรียกพิพิธภัณฑสถานที่พระราชวัง บวรสถานมงคลนี้ว่า “พิพิธภัณฑ์วังหน้า” หรือ “มิวเซียมหลวงที่วังหน้า” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานหมู่พระวิมานทั้งหมดในพระราชวังบวรสถานมงคล จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสําหรับพระนคร

twitter.com

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกในปีพ.ศ.2481  ขณะนั้น ทรงดํารงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระชนมายุเพียง 11 พรรษา ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จพระราชดําเนินไปทรงเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2481 ทุกพระองค์ได้ทอดพระเนตรโบราณวัตถุโบราณสถานที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ด้วยความสนพระทัย ยังความปลาบปลื้มใหญ่หลวงแก่พสกนิกรชาวไทย ที่ทรงเห็นถึงความสําคัญขอพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและมรดกศิลปวัฒนธรรมไทย แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะประทับอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน

suphan

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเข้าพระทัยในกิจการพิพิธภัณฑสถานเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกเหนือจากแนวพระราชดำริที่ทรงให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้ศึกษาหาความรู้ในเรื่องราวประวัติศาสตร์อันเกี่ยวพันกับตนเอง จนนําไปสู่ความภาคภูมิใจในความเป็นมาของตนเองแล้ว พระองค์ยังทรงเล็งเห็นความสําคัญของงานบริการการศึกษา ซึ่งเป็นหมวดงานหนึ่งที่สําคัญมากของพิพิธภัณฑสถาน เพราะแม้ว่าจะจัดพิพิธภัณฑสถานได้ดีเพียงใด หากผู้คนไม่สนใจ หรือความรู้ไม่ได้กระจายไปสู่วงกว้าง ก็ทําให้กิจการพิพิธภัณฑสถานนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดไม่ได้ อีกทั้งพระองค์ยังทรงให้กําลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านพิพิธภัณฑสถาน ดังพระราชดํารัส ซึ่งนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้บันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งเสด็จพระราชดําเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2504 ได้พระราชทานพระราชดํารัสแก่ตนว่า  “…นี่ถ้ากรมศิลปากรไปสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ไหนนะ ฉันจะไปเปิดให้”

เมื่อกรมศิลปากรปรับปรุงขยายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เสร็จสมบูรณ์ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดําเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคารใหม่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในวันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2510 ในครั้งนั้น มีพระราชดํารัสใจความสําคัญดังนี้

“…พิพิธภัณฑสถาน มีส่วนช่วยรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติมาก และเป็นอุปกรณ์ส่งเสริมการศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ อย่างสําคัญ กิจการพิพิธภัณฑ์เป็นกิจการที่ต้องอาศัยหลักวิชาและอาศัยความสนใจสนับสนุนจากทุกๆ ฝ่ายอย่างกว้างขวาง จึงต้องเริ่มต้นด้วยงานเล็กก่อน แล้วค่อยขยายวงงานให้กว้างออกไปตามความสามารถและโอกาสอันเหมาะสม เป็นที่น่ายินดีที่ทางราชการสนใจสนับสนุนการพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างดี พยายามปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครนี้ตลอดมา ทั้งในด้านอาคารสถานที่ และการดําเนินงาน จนบัดนี้ได้เป็นพิพิธภัณฑ์โบราณคดีที่ทันสมัย ได้มาตรฐานตามหลักวิชา สามารถอำนวยความรู้และความสะดวกแก่ประชาชนทั่วไปได้อย่างแท้จริง…”

เรื่องน่าสนใจ