เนื้อหาโดย Dodeden.com

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัลกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระอัจฉริยภาพในศาสตร์และศิลป์หลายสาขา ทรงเป็นทั้งนักคิดและนักสร้างสรรค์งานศิลปกรรมแขนงต่างๆ เช่น งานจิตรกรรม ทรงเริ่มศึกษาและเขียนภาพอย่างจริงจัง ตั้งแต่ พ.ศ 2502 – 2506 และทรงใช้เวลาเมื่อว่างจากพระราชภารกิจ โดยสร้างสรรค์งานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ขึ้นเป็นจํานวนมาก

ส่วนใหญ่เป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ มีทั้งภาพทิวทัศน์ ภาพเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ภาพหุ่นนิ่ง ภาพเหมือน และภาพนามธรรม นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาพระราชทานแนวพระราชดําริและพระบรมราชวินิจฉัยในการดําเนินงานจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ นับเป็นงานจิตรกรรมไทยที่มีความโดดเด่นต่างจากสมัยอื่น เป็นเอกลักษณ์ของจิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 9

tnews.co.th

ในด้านศิลปะสถาปัตยกรรมนั้น ทรงพระกรุณาอุปถัมภ์บํารุงเป็นอันมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ  200  ปี เพื่อเป็นศรีสง่าของพระนคร สําหรับประกอบพระราชพิธีทางศาสนาตามโบราณราชประเพณี ทรงพระราชทานแนวพระราชดําริในการก่อสร้างวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นวัดประจํารัชกาล

 

pantip.com

ในด้านศิลปะการดนตรีและนาฏศิลป์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระปรีชาสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีแซกโซโฟน ทั้งได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงอันมีคุณค่า ประกาศให้โลกประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพ เป็นที่ยอมรับของสถาบันการดนตรีระดับโลก ในส่วนของคนไทยทรงเห็นว่าวิชาดนตรีไทย เป็นองค์ความรู้ที่สําคัญของชาติ ทรงตระหนักในคุณค่าของเพลงไทยที่คีตกวีได้สร้างสมไว้เป็นจํานวนมาก มีพระราชดําริให้กรมศิลปากรรวบรวมรักษาเพลงไทยเดิมไว้ไม่ให้หายไป ด้วยการบันทึกโน้ตและพิมพ์เผยแพร่ ทั้งโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการจัดพิมพ์โน้ตเพลงไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อการอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาวิชาดนตรีและเพลงไทยในบ้านเรา

 

hindumeeting

พระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์มรดกนาฏศิลป์ไทย ประเพณีการสืบทอดนาฏศิลป์นั้น ต้องประกอบพิธีครอบจากครูผู้ใหญ่ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ต่อเนื่องกันมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงความสําคัญของจารีตพิธีกรรมการไหว้ครูและครอบครูนาฏศิลป์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีครอบองค์พระพิราพ พระราชทานแก่ศิลปินอาวุโสของกรมศิลปากร ณ โรงละครพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 23 – 24 มกราคม พ.ศ.2506 และพระราชพิธีพระราชทานครอบประธาน ประกอบพิธีไหว้ครูโขนละคร และพิธีต่อท่ารําเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ พระราชทานแก่ศิลปินอาวุโส กรมศิลปากร ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2527

ในด้านศิลปะภาษาและวรรณคดี ซึ่งเป็นมรดกกศิลปวัฒนธรรมที่สําคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ ทรงตระหนักและทรงห่วงใยในการใช้ภาษาไทย ได้เสด็จพระราชดําเนินไปทรงร่วมประชุมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที 29 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ได้พระราชทานกระแสพระราชดํารัสแนวทางในการส่งเสริมทํานุบํารุงการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสม

ต่อมารัฐบาลไทยได้กําหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ด้วยความสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

เรื่องน่าสนใจ