รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันไม่มีการระบุ “รายได้-อาชีพ” ลงในบัตรประชาชน แต่จะนำไปใส่ในฐานข้อมูล ชี้ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หวังช่วยคนรายได้น้อยตรงตัวบุคคล-อำนวยความสะดวกติดต่อราชการ
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2558 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงแนวคิดนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้มีการระบุรายได้และอาชีพลงในบัตรประชาชน ว่า ตนยืนยันว่าไม่มีการระบุรายได้และอาชีพลงในบัตรประชาชน รวมถึงในไมโครชิพที่อยู่หน้าบัตรประชาชนด้วย แต่ข้อมูลดังกล่าวจะไปใส่ในฐานข้อมูลของประชาชน เพื่อหาแผนในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งขอยืนยันว่าไม่ใช่การละเมิดสิทธิประชาชน แต่ได้ยึดประโยชน์ของประชาชน ทั้งนี้ การจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงข้อมูลของงาน ส่วนราชการ อีกทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อราชการโดยไม่ต้องทำสำเนา
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอุปสรรคขณะนี้คือเรื่องของข้อมูลที่ประชาชนอาจไม่ยอมให้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง เช่น อาชีพอิสระ ผู้ประกอบการร้านค้า ลูกจ้าง เป็นต้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อพิจารณาหาแนวทางตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ คณะกรรมการดูเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานราชการต่างๆ และคณะกรรมการรวบรวมฐานข้อมูลอาชีพและรายได้
พร้อมยืนยันว่า ข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ จะใช้งบประมาณไม่มาก เพราะไม่ได้เป็นการทำบัตรใหม่หรือทำระบบขึ้นมาใหม่ เพียงแต่เป็นการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของรายได้และอาชีพเท่านั้น
สำหรับกรณีที่ถูกโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ โดยทำบัตรล้อเลียนนั้น รัฐมนตรีมหาดไทย กล่าวว่า เป็นสิทธิที่ทำได้เพราะประชาชนยังไม่เข้าใจ แต่เมื่อประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวก็จะยุติไปเอง เพราะรัฐบาลมีเจตนาดีที่ต้องการช่วยเหลือประชาชน
นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดการทดสอบเดินรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ที่ศูนย์ซ่อมบำรุง คลองบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี ว่า แนวคิดดังกล่าว เพื่อต้องการให้ใช้เป็นข้อมูลเชื่อมโยงทุกกระทรวงในบัตรใบเดียวทั้งในเรื่องฐานภาษี และสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น การขึ้นรถไฟฟรี ค่ารักษาพยาบาล
ในเบื้องต้น ได้ให้กระทรวงมหาดไทย ไปศึกษารายละเอียดเพื่อจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ในชิพ ไม่ใช่โชว์อยู่บนบัตรประชาชนอย่างที่เข้าใจกัน ทั้งนี้ ยืนยันว่าการใส่ข้อมูลลงไปในบัตรประชาชนไม่ได้เป็นการประจานใครทั้งสิ้น และแนวคิดนี้ยังเป็นเพียงแค่การศึกษาข้อมูลว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งถ้าทำได้จะทำให้เกิดความสะดวกที่แต่ละหน่วยงานจะได้ใช้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันได้ทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว