ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เผย ข้อมูลฉบับการ์ตูนเข้าใจง่าย เมื่อเด็กหาย ผู้ปกครองสามารถไปแจ้งความได้ทันที ไม่ต้องรอให้หายไปครบ 24 ชม.
ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เผย เมื่อเด็กหาย ผู้ปกครองสามารถไปแจ้งความได้ทันที ไม่ต้องรอให้หายไปครบ 24 ชม.
โดยข้อจำกัด ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับกระบวนการติดตามเด็กหายของตำรวจ ที่ครอบครัวของคนหาย มักพบเจอ โดยมีทั้งหมด 15 ข้อด้วยกัน อาทิ เวลาแจ้งความเด็กหายที่โรงพักมักเจอปัญหาตำรวจไม่รับแจ้งความ โดยอ้างว่า “หายไปไม่ถึง 24 ชม.” หรือ ฝ่ายสืบสวนส่วนใหญ่ ไม่มีประสบการณ์ในคดีตามหาเด็กหาย โดยข้อความทั้งหมดมีดังต่อไปนี้
1.เวลาแจ้งความเด็กหายที่โรงพัก หลายเคสมักเจอปัญหาตำรวจไม่รับแจ้งความ โดยอ้างว่า “หายไปไม่ถึง 24 ชม.” แม้ผู้บริหาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเคยออกหนังสือเวียน ให้รับแจ้งความคนหายโดยทันที ไม่มีเงื่อนไขด้านเวลาแล้วก็ตาม
2.การไม่รับแจ้งความคนหาย เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ไม่มีกฏหมายบัญญัติว่าต้องหายไปครบ 24 ชม. ก่อนถึงแจ้งความได้ ดังนั้นการใช้ดุลยพินิจว่าเด็กสมัครใจ เด็กไปเอง เดี๋ยวก็กลับ จึงเป็นทัศนคติที่ทำให้ตำรวจไม่รับแจ้งความ ในวงการเรียกการกระทำแบบนี้ว่า “เป่าคดี”
3.ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการติดตามเด็กหายบนโรงพัก มีอยู่สองส่วน คือ พนักงานสอบสวน มีหน้าที่รับแจ้งความ และส่วนทีมที่ลงพื้นที่ติดตาม คือ ฝ่ายสืบสวน ปัญหาที่พบเจอคือ วัฒนธรรมหลายโรงพัก ฝ่ายสอบสวนและฝ่ายสืบสวน สั่งการกันไม่ค่อยได้ ดังนั้น เวลาญาติคนหายไปแจ้งความพนักงานสอบสวนอาจได้แค่ใบแจ้งความกลับบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้วพนักงานสอบสวนควรประสานให้ฝ่ายสืบสวนมารับเรื่องและลงพื้นที่ติดตามทันที
4.ฝ่ายสืบสวนหลายโรงพักมีข้อจำกัดหลายอย่างที่น่าทำความเข้าใจ อันดับแรกคือ กำลังเจ้าหน้าที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับคดีอาชญากรรมในท้องที่โดยเฉพาะนครบาล ยิ่งตอนมีสถานการณ์ทางการเมืองตำรวจถูกแบ่งกำลังไปดูแลการชุมนุม กำลังตำรวจสืบสวนจึงน้อยลงไปอีก เช่นคดีน้องการ์ตูน มีตำรวจสืบสวนตอนติดตามหาน้องจริงๆ มีตัวหลัก แค่ 1 นายครับ
5.ฝ่ายสืบสวนส่วนใหญ่ ไม่มีประสบการณ์ในคดีตามหาเด็กหาย เพราะหน้างานมีหลายหน้ามาก ส่วนใหญ่อาจเชี่ยวชาญคดียาเสพติด หรือลักวิ่งชิงปล้น เพราะเกิดบ่อยในพื้นที่ ส่วนคดีเด็กหายอาจมีไม่เยอะ จึงเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน ไม่ทราบแผนประทุษกรรมและวิธีการของคนร้ายลักพาตัวเด็กในประเทศไทย
6.แน่นอนว่าเด็กหาย อาจไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่หายไป การข้ามเขตไปสืบสวนยังต่างพื้นที่ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากในการปฏิบัติ ต้องใช้การประสานงานระดับบุคคล ตลอดจนงบประมาณในการไปติดตาม หลายเคสในการตามหาเด็กหาย พบว่า ตำรวจฝ่ายสืบสวนที่มีใจต่อเรื่องนี้ มักทำลายข้อจำกัด โดยการควักเงินส่วนตัว ลงพื้นที่เองเลย
7.การประสานข้อมูลในท้องที่ใกล้เคียงที่เด็กหาย ยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร หลายครั้งพบว่า ตำรวจท้องที่ข้างเคียงไม่ทราบว่ามีเด็กหาย การส่งข้อมูลในระบบของตำรวจยังไม่เป็นทางการ ส่วนใหญ่รู้ว่ามีเด็กหายจากข่าวเสียมากกว่าข้อมูลในระบบของตำรวจซะอีก
8.เชื่อว่าตำรวจส่วนใหญ่มีใจต่อปัญหาเด็กหาย แต่โดยโครงสร้างแล้ว ถ้านายไม่เห็นด้วยหรือนายไม่สั่ง ตำรวจชั้นผู้น้อยจะไปทำหรือไปสืบสวนลำบาก หลายครั้งครอบครัวคนหายจึงต้องไปหาสื่อมวลชน เพื่อให้เป็นข่าว ซึ่งจะทำให้ตำรวจระดับผู้ใหญ่ให้ความสนใจ และความสำคัญในทันที
9.ระบบการติดตามคนหายของตำรวจ – พนักงานสอบสวนจะต้องทำแบบรับแจ้งคนหายพลัดหลง ส่งมายังส่วนกลาง คือแผนกคนหายพลัดหลง กองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อทำการประกาศในเวปไซค์ และส่งจดหมายเวียนไปตามหน่วยงานต่างๆ ปัญหาคือ มันไม่ทันเวลาและล่าช้ามาก ประกาศบางฉบับเด็กหายและแจ้งความไว้นานเกือบ 2 เดือนแล้วถึงจะถูกจัดส่งไปตามหน่วยงานต่างๆ
10.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม แต่ศูนย์ไม่มีบทบาทใดๆเลย ไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนติดตาม หากมีเคสโทรไปแจ้ง จะใช้วิธีประสานกลับมาที่โรงพักที่รับแจ้งเหตุ เพื่อติดตามเรื่องให้
11.ศูนย์คนหายของตำรวจ มีสายด่วน 1599 ตำรวจเคยสัมภาษณ์ว่าไม่ค่อยมีคนโทรมาแจ้ง แต่จริงๆ แล้วประชาชนน่าจะไม่ทราบว่ามีสายด่วนนี้มากกว่า ไม่ใช่ไม่มีปัญหาคนหาย
12.จริงๆ แล้วตำรวจจำนวนมาก ช่วยตามหาเด็กหายและสืบสวนทางลับ แต่ปัญหาของตำรวจคือ ขาดกระบวนการทำงานกับครอบครัวคนหาย คือ ไม่ได้เล่า ไม่ได้แจ้ง ไม่บอก ไม่เคยโทรคุยกับครอบครัวคนหาย จึงทำให้ครอบครัวคนหายอาจคิดว่าตำรวจไม่ได้ช่วยอะไร หลายครั้งเวลาเราไปตามหาเด็กหายกับตำรวจ ผมจะขอให้ตำรวจคุยกับครอบครัวคนหาย อธิบายถึงกระบวนการและแนวทางว่าเราทำอะไรกันอยู่และจะทำอะไรต่อไป
13.แน่นอนว่าการกระบวนการรับแจ้งและติดตามเด็กหายควรเริ่มจากโรงพักท้องที่เกิดเหตุ แต่บางคดี อาจต้องใข้ความเชี่ยวชาญ ทักษะเฉพาะด้าน ความเข้าใจสภาพปัญหา กำลังคนและงบประมาณ การมีหน่วยงานหรือแผนกติดตามหาคนหายโดยเฉพาะของตำรวจเป็นเรื่องที่ตำรวจควรพิจารณาโครงสร้างเรื่องนี้ ในหลายประเทศมีแผนกหรือศูนย์ของตำรวจในการตามหาคนหายโดยตรงกันแล้ว
14.จริงๆ แล้วเวลาผมประสานผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทุกเคสได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนที่ดีเสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกเคสควรได้รับการบริการจากตำรวจทุกโรงพักอย่างเต็มประสิทธิภาพโดยไม่ต้องร้องเรียนไปถึงตำรวจระดับผู้ใหญ่
15.สุดท้ายให้กำลังใจครอบครัวคนหายที่ยังไม่พบลูก และให้กำลังใจตำรวจที่ตั้งใจทำงานครับ เชื่อว่าคนตั้งใจทำงานมีมากกว่าคนที่ละเลยหน้าที่ครับ
เมื่อเด็กหาย ผู้ปกครองสามารถไปแจ้งความได้ทันที ไม่ต้องรอให้หายไปครบ 24 ชม. นะครับ 🙂
Posted by ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา on 9 ธันวาคม 2015