ทีมวิจัยทางการแพทย์จาก 3 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย คาร์ดิฟฟ์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ในแคว้นเวลส์, คิงส์คอลเลจ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเมโยคลินิก ในสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกันศึกษาวิจัยพบว่า ยารักษาอาการโรคกระดูกพรุน (ออสเทโอโพโรซิส) อย่างแคลซิไลติคส์ สามารถใช้ควบคุมอาการของโรคหอบหืด ซึ่งมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากถึง 300 ล้านคนทั่วโลกได้
การค้นพบดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการค้นคว้าวิจัยโรคหอบหืด แล้วพบว่า แคลเซียม เซ็นซิง รีเซ็ปเตอร์ หรือซีเอเอสอาร์ ที่อยู่ในเนื้อเยื่อทางเดินหายใจและต่อมพาราไทรอยด์ มีบทบาทสำคัญในการเกิดโรคหอบหืดดังกล่าว ด้วยการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าใจผิดคิดว่าสารที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย อาทิ เกสรดอกไม้ เป็นพิษ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเม็ดเลือดขาวและโปรตีนในช่องทางเดินหายใจจนตีบตันกลายเป็นอาการหอบหืด
ทีมวิจัยพบว่า ยารักษาโรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันไม่ให้เกิดซีเอเอสอาร์ในบริเวณช่องทางเดินหายใจของคนเราได้ โดยการทดลองในหนูทดลองที่เป็นหอบหืดและด้วยการทดลองด้วยเนื้อเยื่อจากช่องทางเดินหายใจของผู้ที่เป็นโรคหอบหืด แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่ดี
พญ.ซาแมนธา วอล์คเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนโยบายของสำนักงานโรคหอบหืดแห่งอังกฤษ ซึ่งให้ทุนสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้ ระบุว่า การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งใหญ่
เพราะเป็นครั้งแรกที่สามารถค้นพบต้นเหตุของการเกิดโรคหอบหืดได้จริงๆ และจะเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในอนาคต เนื่องจากในเวลานี้ราว 5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดไม่มีหนทางรักษา นอกจากนี้ยาดังกล่าวยังมีโอกาสสูงมากที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคปอดอักเสบอื่นๆ ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังคงจำเป็นต้องดำเนินขั้นตอนการทดลองต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่า ยาดังกล่าวสามารถใช้กับคนได้โดยปลอดภัย คาดว่าวิธีการรักษาใหม่นี้จะสามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้