หลังจากในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีการรายงานถึงปัญหาการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในปี 2561
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองเลขาธิการ ในฐานะรักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ในการจัดทำงบเหมาจ่ายรายหัวในปี 2561 สปสช.ได้นำเสนองบประมาณจำนวน 141,155.925 ล้านบาท ไม่รวมเงินเดือน
โดยสำนักงบประมาณได้รายงานตัวเลขงบประมาณปี 2561 ต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่จำนวน 128,020.726 ล้านบาท ไม่รวมเงินเดือน แม้จะมากกว่างบประมาณปี 2560 จำนวน 4,554.98 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์นี้จึงรายงานให้บอร์ด สปสช.ทราบว่า จะส่งผลต่อการบริหารงบเหมาจ่ายในปี 2561 เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับจะลดลงและจะทำให้เกิดผลกระทบตามมา ทั้งต่อหน่วยบริการและประชาชนผู้รับบริการ
ดังนั้นจึงต้องมีการประสานไปยังสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงการขอปรับลดการหักเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐในปี 2561 ที่มากกว่าปี 2560 พอควร
ซึ่งในปี 2560 จำนวนหักเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐอยู่ที่จำนวน 42,307.234 ล้านบาท ส่วนปี 2561 อยู่ที่จำนวน 43,828.28 ล้านบาท ขณะที่งบการบริหารจัดการของ สปสช.ในปี 2561 ได้ถูกปรับลดเช่นกัน จากที่เสนอจำนวน 1,853 ล้านบาท ถูกปรับลดลงอยู่ที่จำนวน 1,627.15 ล้านบาท
ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เรื่องนี้จะประสานกับฝ่ายบริหาร สปสช.เพื่อแก้ไขปัญหา เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้คงไม่น่ายอมรับได้ ซึ่งคงต้องปรึกษากับท่านนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งงบประมาณที่ได้รับในปัจจุบันก็บริหารจัดการได้ยากอยู่แล้ว ดังนั้นขอให้ สปสช.ส่งข้อมูลมาชัดเจนเพื่อที่จะได้นำเข้าหารือโดยเร็ว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒน กล่าวว่า เดิมที สปสช.เสนอของบประมาณปี 2561 สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรวมประมาณ 164,675.24 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 3,374.70 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเพิ่มจากงบประมาณปี 2560 จำนวน 264.83 บาทต่อคนต่อปี
แต่สำนักงบฯ ให้เพิ่มประมาณ 75 บาทต่อคนต่อปีแทน ด้วยเหตุนี้ ทางบอร์ดฯ จึงมีมติให้หารือกับสำนักงบประมาณเพื่อต่อรองถึงความจำเป็นในการใช้งบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ในฐานะประธานบอร์ดฯ และตนได้เข้าหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งสองฝ่าย เนื่องจากเดิมทีสำนักงบประมาณเข้าใจว่าการของบฯเพิ่มครั้งนี้ ไม่ได้มีสิทธิประโยชน์หรือความจำเป็นอื่นๆเพิ่มเติม แต่เมื่อทางสปสช.ชี้แจงข้อเท็จจริงทำให้เข้าใจมากขึ้น โดยจะมีการปรับเพิ่มตามความจำเป็นภายใต้ข้อจำกัดงบประมาณของประเทศ
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช.ชี้แจงสำนักงบฯว่า ในปีงบประมาณ 2561 ทางสปสช.จะมีการขยายสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นสำหรับประชากรสิทธิบัตรทองจำนวน 48.797 คน พร้อมทั้งยังมีนโยบายอื่นๆเพิ่มขึ้น
อาทิ การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 คาดว่าต้องใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท เฉลี่ยต้องเพิ่มงบรายหัวอีกคนละ 6 บาท หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้เฉลี่ยต้องเพิ่มงบรายหัวประมาณ 3-4 บาทต่อคน อีกทั้ง ยังมีงบประมาณในการจัดระบบหมอครอบครัวที่จะขยายการบริการถึงเขตกทม. เพื่อให้คนกรุงเทพฯเข้าถึงบริการมากขึ้น
โดยเรื่องนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเตรียมงบฯไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาทอีก แต่ในการเพิ่มก็ต้องมาดูรายละเอียดว่าต้องเป็นเท่าไร อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแล้วไม่สามารถให้งบประมาณเพิ่มได้ตามที่ขอจริงๆแล้ว ทางสปสช.อาจต้องลดเป้าหมายลง ยกตัวอย่าง การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ตั้งเป้า 100,000 คน อาจต้องเหลือเพียง 70,000 คน ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เร่งรีบ อาจทยอยทำในปีงบประมาณอื่น เพราะเป็นกลุ่มที่รอคิวรับบริการได้
กรณีการหารือเรื่องงบรักษาพยาบาลกองทุนพนักงานและข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีปัญหางบประมาณไม่เพียงพอในเดือนเมษายนนี้ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จริงๆงบเรื่องนี้จะมีปัญหาเพียงงบประมาณปี 2560 คือช่วงเดือนเมษายนนี้ แต่ยืนยันไม่ได้กระทบต่อผู้รับบริการที่เป็นข้าราชการท้องถิ่น เพราะจะมีการหารือร่วมกับกับคณะกรรมการกระจายอำนาจในเร็วๆนี้เพื่อปรับบันทึกข้อตกลงใหม่ในเรื่องการหางบประมาณเพิ่มเติม
ส่วนในปีงบประมาณ 2561 สปสช. เสนอของบไปแล้ว 9,000 ล้านบาท ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร เป็นไปตามข้อเสนอ ดังนั้น ในเรื่องการบริหารระยะยาวไม่ต้องกังวล ส่วนระยะสั้นที่มีติดขัดบ้าง เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ แต่ในเรื่องการบริการรักษายืนยันไม่กระทบ