สธ.สระแก้ว เผย พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วทุกตำบล สูงกว่าปีที่แล้ว 5 เท่า อ.เขาฉกรรจ์ ครองแชมป์! พบผู้ป่วยสูงสุด ระบุ ส่วนใหญ่เป็นเด็กโต ด้าน สสจ.พัทลุง ห่วง ไข้เลือดออกระบาดเพิ่มขึ้น ย้ำ ปชช. ช่วยกันกำจัดยุงลาย …
วันที่ 12 พ.ย. 58 นายแพทย์อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดสระแก้วว่า ตั้งแต่ต้นปี 58 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 จังหวัดสระแก้วมีผู้ป่วยไข้เลือดออกทั้งสิ้น 1,136 ราย อัตราป่วย 207.13 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 2 รายเป็นผู้ใหญ่ทั้ง 2 รายอายุ 25 ปีและ 51 ปี
จากรายงานพบว่าตอนนี้มีการระบาดในพื้นที่ทั้งจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกตำบล แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังอยู่ในสถานการณ์ระบาดอยู่ พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ที่อำเภอเขาฉกรรจ์ รองลงมาได้แก่ อำเภอวัฒนานครและอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้วอยู่ในลำดับที่ 26 ของประเทศ และลำดับที่ 6 ของภาคตะวันออก ช่วงอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อายุ 10-14 ปี รองลงมา 5-9 ปี หรือเป็นช่วงวัยเรียนประมาณชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมต้น แต่ก็พบผู้ป่วยกระจายทุกกลุ่มวัย จากเมื่อก่อนจะพบแค่ในเด็กเล็ก (อายุ 0-4 ปี) ปีนี้เป็นปีที่มีการระบาดค่อนข้างมากกว่าปี 57 และมีความรุนแรง ทั้งประเทศมีผู้ป่วยนับแสนคน มีผู้เสียชีวิต 102 ราย
สำหรับจังหวัดสระแก้วจำนวนผู้ป่วยมากกว่าปีก่อน 5 เท่าตัว และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ปกติช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนแนวโน้มโรคจะลดลง แต่ปีนี้เกิดปัญหาภัยแล้ง ฝนมาช้า ทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคช้ากว่าปกติประมาณ 1 เดือน
ด้าน นายแพทย์สาธิต ไผ่ประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2558 จังหวัดพัทลุงมีผู้ป่วยด้วยไข้เลือดออกแล้ว จำนวน 393 ราย แต่ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ส่วนพื้นที่ที่มีอัตราป่วยสูงได้ 3 ลำดับแรก คือ อ.ตะโหมด อ.ควนขนุน และ อ.ปากพะยูน ตามลำดับ
ทางสำนักงานฯ จึงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รวมทั้งโรงพยาบาลทุกแห่ง ให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในการป้องกันโรคไข้เลือดออกและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคได้สำหรับสัญญาณอันตรายของไข้เลือดออกนั้น ต้องระวังในกลุ่มที่กำลังป่วยและอยู่ในช่วงที่ไข้ลด เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการรุนแรงหลังไข้ลดโดยให้สังเกตอาการที่เป็นสัญญานของอาการช็อก คือ ผู้ป่วยมีอาการซึม อ่อนเพลีย งอแง ไม่สบายตัว มีอาการปวดจุกแน่นในบริเวณท้องด้านขวา ซึ่งอาจมีเลือดกำเดาออก เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายเป็นเลือด หรือเป็นประจำเดือน หากมีอาการหนึ่งอาการใด ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที.