ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่าวันนี้ ( 6 กรกฎาคม 2560 ) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังกลับจากดูงานสุขภาพจิตและบริการผู้ป่วยจิตเวชที่โรงพยาบาล(รพ.)เซียงหย่าแห่งที่ 2 ของมหาวิทยาลัยฉางชา มณฑลหูหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน (The Second Xiangya Hospital of Central South University Changsha , Hunan Province ,P.R.China ) ว่า
การศึกษาดูงานครั้งนี้ เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือหรือเอ็มโอยู( MOU)ระหว่างไทยจีน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของทั้ง 2 ประเทศ
ซึ่งขณะนี้ทางการจีนมีความก้าวหน้ามาก มีการพัฒนา รพ.จิตเวชให้สวยงาม สะดวกสบาย อบอุ่น มีระบบให้ผู้ป่วยสามารถนัดหมายกับหมอที่จะตรวจได้ และมีระบบการติดตามไม่ให้ผู้ป่วยขาดหายไปจากระบบการดูแลรักษาของโรงพยาบาล
โดยให้ครอบครัวมีส่วนร่วมและมีการสร้างแรงจูงใจให้ครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวชต้องพาผู้ป่วยไปรักษาต่อเนื่อง ทำให้การรักษาได้ผลดี ลดอาการกำเริบจากปัญหาขาดยาได้อย่างดี
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางของจีนได้ปรับโครงสร้างบริหารจัดการใหม่ โดยรวมงานด้านสุขภาพอนามัยกับการวางแผนครอบครัวเข้าด้วยกัน และกระจายอำนาจให้มณฑลทั้งหมดซึ่งมณฑลหูหนานมีขนาดใหญ่มีประชากรประมาณ 70 ล้านคน โดยอัตราป่วยโรคจิตเวชใกล้เคียงกับไทยคือประมาณร้อยละ 10-12 ภาครัฐได้จัดงบประมาณดูแลอย่างเต็มที่ ประการสำคัญได้สนับสนุนการพัฒนาด้านวิชาการ การวิจัยทางด้านจิตเวช ซึ่งจีนให้ความสำคัญมาก ส่งผลให้มีวิธีการดูแลที่ก้าวหน้ามาก
“ ประเด็นที่แตกต่างจากระบบการดูแลผู้ป่วยจิตของไทยคือ รพ.จิตเวชของจีนแยกหอนอนผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลแต่ละโรคไม่ปะปนกัน เช่นคนป่วยโรคจิตเภทให้นอนส่วนหนึ่ง โรคซีมเศร้าอีกส่วนหนึ่ง แต่ละแห่งมีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศเหมือนอยู่ที่บ้าน จนดูไม่ออกว่าเป็นคนป่วยจิตเวช หรือเป็นรพ.จิตเวช ระยะเวลานอนพักรักษาตัวของผู้ป่วยยาวกว่าไทย เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดอื่นๆ ขณะที่รพ.จิตเวชของไทยมีข้อจำกัดกว่าเพราะมีผู้ป่วยค่อนข้างแออัด” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อไปว่า การดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้นับว่ามีประโยชน์กับการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทยมาก โดยในปีนี้กรมสุขภาพจิตมีนโยบายจะปรับโฉมบริการของรพ.จิตเวชทั้ง 19 แห่ง ใน 3 เรื่อง ใหญ่ เพื่อการดูแลอย่างมีคุณภาพ
ประการแรกคือการปรับปรุงด้านกายภาพสถาน ที่ให้มีบรรยากาศสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงกับบ้าน ขณะนี้ดำเนินการแล้วเช่นสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รพ.ศรีธัญญา เป็นต้น
โดยจะให้แยกหอนอนผู้ป่วยจิตเวชแต่ประเภทไม่ให้ปะปนกันเหมือนที่ผ่านมา ประการที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญคือจะมีการออกแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเฉพาะรายมากขึ้น ไม่ใช่ดูแบบรวมๆเหมือนที่ผ่านมา โดยจะมีระบบการประเมินสภาวะของผู้ป่วยทุกคน ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่มีระบบนี้ เพื่อออกแบบกระบวนการดูแลให้เหมาะสมกับพยาธิสภาพของโรค ซึ่งจีนดำเนินการแล้วพบว่าได้ผลดีมาก
ทั้งนี้ในการปรับเปลี่ยนโฉมบริการในช่วงแรกนี้จะเริ่มแยกหอนอนผู้ป่วย 3 โรคก่อนได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท และผู้ป่วยไบโพล่าร์ หรือโรคอารมณ์ 2 ขั้ว ขณะเดียวกันจะรับผู้ป่วยทั้ง 3 โรคนี้ไว้ดูแลรักษาในโรงพยาบาลให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจะรักษาแบบผู้ป่วยนอก ตรวจรับยาแล้วให้กลับบ้าน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลและอยู่ในระบบบริการอย่างต่อเนื่อง
ประการที่ 3 คือการพัฒนาระบบการดูแลรักษาโรคจิตเวชในเด็ก จะให้รพ.จิตเวชเด็กซึ่งเป็นรพ.เฉพาะทางของกรมมี 6 แห่ง ได้แก่ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จ.สมุทรปราการ, สถาบันราชานุกูล กทม. ,สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ,สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นอีก 3 แห่งอยู่ที่ กทม. ขอนแก่นและสุราษฎร์ธานี มีนโยบายให้ทุกแห่งใช้รูปแบบศูนย์รวมบริการ ( child mental illness unit ) ให้การรักษาโรคจิตเวชในเด็กได้ทุกโรคไม่ต้องแยกดูแลเหมือนระบบเดิม
เช่น แต่เดิม รพ.ยุวประสาทฯ ดูแลเด็กโรคออทิสติก สถาบันราชานุกูลดูเด็กด้อยสติปัญญา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้รับความสะดวกขึ้นไม่ต้องเดินทางไกล โดยได้ตั้งคณะทำงานรับผิดชอบพัฒนาในด้านต่างๆ ให้เกิดระบบและมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งนี้รพ.จิตเวชในสังกัดกรมฯทั้งเด็กและผู้ใหญ่มี 19 แห่ง มีเตียงรับผู้ป่วย 8,700 กว่าเตียง มีผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละประมาณ 4,500 คน มีผู้ป่วยที่ต้องรับไว้ดูแลในรพ.วันละประมาณ 3,500 คน