ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 30 สิงหาคม 2560 ) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลศรีธัญญา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 จังหวัดนนทบุรี เพื่อติดตามผลการดำเนินงานบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตประชาชนที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 4 ประจำปีงบประมาณ 2560 ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สระบุรี ลพบุรี และนครนายก
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า รพ.ศรีธัญญา เป็นสถานพยาบาลหลักของกรมฯ ที่ให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชครบวงจรคือให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพอยู่ในที่เดียวกัน ไม่มีภาพลักษณ์ที่น่ากลัว สามารถสร้างความเข้าใจสังคมดีขึ้น
จากการตรวจเยี่ยมพบว่ามีผลงานอยู่ในระดับน่าพอใจ ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชทุกโรคที่มีอาการทั่วไปและยุ่งยากซับซ้อนที่มาจากกทม.และเขตสุขภาพที่ 4 ปีละ 1 แสนกว่าคน มีผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลปีละ5,000 กว่าคน ซึ่งส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 50 เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท ( Schizophrenia) รองลงมาคือโรคอารมณ์ 2 ขั้ว ( Bipolar ) และผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการใช้เหล้า สารเสพติดอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า กรมฯได้วางเป้าหมายพัฒนารพ.ศรีธัญญาให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวช ขณะนี้ได้ปรับโฉมด้านโครงสร้าง โดยทำให้หอผู้ป่วยมีลักษณะคล้ายคลึงกับบ้านมากที่สุด ซึ่งจะเอื้อต่อสภาพจิตใจและการปรับตัวของผู้ป่วยดีขึ้น และได้นำการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชด้วยแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า เพียร์ ซัพพอร์ต ( Peer Support) มาใช้เป็นแห่งแรกในประเทศ
เพื่อเพิ่มทางสว่างให้แก่ผู้ป่วยจิตเวชได้ฟื้นตัวและกลับคืนสู่สุขภาวะหลังจากผ่านการบำบัดรักษาแล้ว โดยจัดหลักสูตรอบรมผู้ที่เคยป่วยทางจิตเวชและประสบผลสำเร็จในการรักษาและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สามารถทำประโยชน์ได้ เข้ามาเป็นเพื่อนหรือเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือสนับสนุนแก่ผู้ป่วย เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ สร้างแรงจูงใจการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวางเป้าหมายชีวิต
จะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชเห็นวิธีการแก้ปัญหาอาการป่วยที่เกิดขึ้น เกิดความเชื่อมั่น มีความหวังและตัดสินใจรับผิดชอบชีวิตตนเองได้ จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดพลังใจและความมุ่งมั่นในการดูแลตัวเองให้กลับคืนสู่สภาวะปกติและทำบทบาทในสังคมได้
“ระบบฟื้นฟูดังกล่าวกำลังบูมมาก หลายประเทศนำมาใช้แล้วเช่นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ ญึ่ปุ่น ฮ่องกง โดยที่สหรัฐอเมริกามีคนกลุ่มนี้ประมาณ20,000 คน ทำให้การฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชได้ผลดี ลดจำนวนผู้ป่วยในที่นอนโรงพยาบาล ลดอาการกำเริบทางจิต ผู้ป่วยเผชิญปัญหาดีขึ้น
ช่วยให้ผู้ป่วยมีความหวัง มีความพึงพอใจในชีวิต และให้ความร่วมมือในการรักษา ทำหน้าที่ในสังคมได้ดีอยู่ในชุมชนได้นานขึ้น ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ทุกโรคทั้งโรคจิตเวชทั่วไปและผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้สารเสพติดทุกชนิดรวมทั้งเหล้าด้วย ระบบนี้จะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผู้ป่วยจิตเวชว่า เป็นโรคที่สามารถบำบัดอาการให้หายได้ อยู่ร่วมสังคมได้ โดยจะเร่งขยายผลใช้ในรพ.จิตเวชทั่วประเทศ” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ทางด้านนายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้ให้การรับรองหลักสูตรเพียร์ ซัพพอร์ตแล้ว ตามหลักสูตรนี้จะมีการอบรมทั้งทฤษฎีความรู้โรคจิตเวชต่างๆ และการฝึกทักษะในการดูแลผู้ป่วยจริง ใช้ระยะเวลา 4 เดือน เมื่อผ่านเกณฑ์จะได้รับประกาศณียบัตรรับรอง
โดยผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ามาเป็นเพียร์ฯ นั้น จะต้องมีคุณลักษณะดังนี้คือ มีจิตอาสา สามารถควบคุมอาการป่วยตนเองได้อย่างดี หลังผ่านการอบรมแล้วจะทำหน้าที่ทั้งในชุมชนและในโรงพยาบาล เป็นกำลังสำคัญในระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชอีกกลุ่มหนึ่ง
ขณะนี้ได้อบรมรุ่นแรก 12 คน อายุ 30-60 ปี เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อารมณ์ 2 ขั้ว จิตเภท ผ่านหลักสูตรไปแล้ว 8 คน ได้เริ่มทดลองปฏิบัติการแล้วที่ศูนย์บริการคนพิการทางจิตสายใยครอบครัวซึ่งอยู่ญา จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการนานาชาติในหัวข้อ “ทางสว่างของจิตเวช” ครั้งแรกในประเทศ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชเพื่อกลับคืนสู่สุขภาวะในวันที่ 4-5 กันยายน 2560 ที่โรงแรมเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กทม.
ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และองค์กรเกี่ยวข้องทั้งไทยและต่างประเทศ มาร่วมให้ความรู้ และเผยแพร่งานวิจัยอีกจำนวนมาก ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเข้าร่วมฟังงานวิจัยได้ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา หมายเลข 085-5554199 ตลอด 24 ชั่วโมง