ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  วันนี้ ( 23 มิถุนายน 2560 ) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิตได้เร่งพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยโรคทางจิตเวช ได้แก่ โรคซึมเศร้าและโรคจิตเภท ให้สามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น

ซึ่งจากเดิมการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในปี 2551 มีเพียงร้อยละ 3.34 เพิ่มเป็นร้อยละ 48.50 ในปี 2559    ส่วนผู้ป่วยโรคจิตเภทในปี 2557 เข้าถึงบริการร้อยละ 43.75 เพิ่มเป็นร้อยละ 68 ในปัจจุบัน  ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชได้รับการรักษาเพิ่มมากขึ้นและสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชุมชนได้

ผลสำรวจระบาดวิทยาระดับชาติครั้งล่าสุดเมื่อพ.ศ. 2556 พบคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคทางจิตเวชร้อยละ 3.2 หรือประมาณ 1.6 ล้านกว่าคน  สาเหตุการป่วยเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง

เช่น กรรมพันธุ์  ความผิดปกติของระบบการทำงานของสมอง การอบรมเลี้ยงดู ภาวะความกดดันต่าง ๆ เป็นต้น  ผู้ชายมักจะเริ่มป่วยเมื่ออายุ 18-30 ปี ส่วนผู้หญิงจะเริ่มป่วยเมื่ออายุ 20-40ปี ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีลักษณะแตกต่างไปจากคนปกติทั่วไป ไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ทั้งด้านความคิด พฤติกรรม และอารมณ์ ได้แก่  หลงผิด คิดว่าตนเองมีอิทธิฤทธิ์ การรับรู้ผิดปกติ เช่น มีหูแว่วได้ยินเสียงคนมาพูดด้วยโดยไม่เห็นตัว  ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี พูดคนเดียว แต่งตัวแปลกๆ สกปรกรุงรัง

ดังนั้นหากประชาชนพบเห็นคนในครอบครัวหรือในชุมชนเริ่มมีอาการป่วยใหม่ๆ ควรรีบพาไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด    ยิ่งเร็วเท่าใดยิ่งได้ผลดี  ผู้ป่วยจะมีโอกาสหายขาดสูง สามารถใช้ชีวิตหรือทำงานได้ตามปกติ  โดยกรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้สำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิตและโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ เร่งพัฒนาระบบบริการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วยโรคทางจิตเวชให้ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามในการดูแลผู้ป่วยโรคทางจิตเวช มักจะพบปัญหาหลัก 2 ประการ ประการแรก คือ มีประชาชนจำนวน ไม่น้อยที่เข้าใจผิดว่าอาการป่วยของผู้ป่วยโรคทางจิตเวชเกิดจากการกระทำของภูตผีปีศาจหรือเรื่องทางไสยศาสตร์ เป็นคนบ้า และเชื่อว่ารักษาไม่หาย จึงไม่พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล

แต่พาไปรดน้ำมนต์หรือทำพิธีเข้าทรงตามความเชื่อแทน ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมาก ถูกละทิ้ง ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการครั้งแรก จึงทำให้อาการป่วยเรื้อรัง  โอกาสหายขาดจึงน้อยลง

 

ประการที่ 2 ในกลุ่มของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษากินยาแล้ว  เมื่ออาการทางจิตใจดีขึ้นจนเป็นปกติ  จะคิดว่าตนเองหายแล้วหรือกลัวว่าจะติดยา  จึงมักจะหยุดกินยาหรือกินไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง 

ซึ่งจะมีผลเสียอย่างมากผู้ป่วยจะ มีโอกาสเกิดอาการกำเริบซ้ำ การรักษายากขึ้นและได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร  ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและเรื้อรังรวมทั้งสูญเสียความสามารถ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจครอบครัวและประเทศ ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้เร่งสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในเรื่องที่กล่าวมาแล้ว

ทางด้านนายแพทย์บุรินทร์  สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้ กรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกับเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต กรุงเทพมหานคร และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ขยายการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตตามมาตรฐานลงสู่โรงพยาบาลชุมชน 878 แห่งทั่วประเทศ

กระจายยาที่จำเป็น 35 รายการ สามารถให้การรักษาผู้ป่วยโรคทางจิตเวชได้ เช่น โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น เป็นต้น  เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาในสถานบริการที่อยู่ใกล้บ้านยิ่งขึ้น

พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยจากชุมชนเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการรักษา  และพัฒนาให้โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัด 19 แห่งทั่วประเทศ เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อน ที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศแบบไร้รอยต่อ

เรื่องน่าสนใจ