ที่มา: dodeden

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ล่าสุดวันนี้( 2 มิถุนายน 2560) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่าตั้งแต่วันที่ 16- พฤษภาคม  – 2  มิถุนายน 2560 มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งหมด 25 จังหวัด

ขณะนี้คลี่คลายทุกพื้นที่ อยู่ระหว่างการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ซึ่งในด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั้น ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล  สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีความเป็นห่วงประชาชนผู้ประสบภัยภายหลังน้ำลดทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ 

ซึ่งจะต้องให้การดูแลเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เช่นโรคอุจาระร่วง  โรคฉี่หนู เป็นต้น ความสะอาดด้านสุขาภิบาลน้ำกินน้ำใช้   เพื่อมิให้ส่งทุกข์ซ้ำเติมผู้ประสบภัย สร้างความปลอดภัยและความมั่นใจประชาชนหลังน้ำท่วม

โดยในส่วนของการดูแลทางสุขภาพใจ ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตดำเนินการเฝ้าระวังและฟื้นฟูด้านจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นช่วงที่ประชาชนเห็นความเสียหายปรากฏอย่างชัดเจน จะต้องให้การดูแลช่วยเหลือประคับประคองจิตใจอย่างเหมาะสมจนกว่าจะกลับมาสู่สภาวะปกติ   สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามปกติ

ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้ให้หน่วยงานในสังกัด จัดทีมช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ประสบภาวะวิกฤติหรือทีมเอ็มแคท ( Mental Health Crisis Assessment Team : MCATT) ลงดูแลสุขภาพใจประชาชนหลังน้ำลดร่วมกับเครือข่ายเอ็มแคทและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ซึ่งมีทุกพื้นที่

สำหรับที่ จ.สุโขทัยโดยเฉพาะที่อ.คีรีมาศ ซึ่งประสบภัยนานและรุนแรง ได้ส่งทีมฯจากโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่และศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 จ.พิษณุโลก ร่วมกับทีมฯของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย โรงพยาบาลคีรีมาศ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคีรีมาศ  โดยมีนายแพทย์ปริทรรศ   ศิลปกิจ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุงเป็นหัวหน้าทีม

ผลการให้บริการได้ตรวจสุขภาพใจประชาชนในตำบลที่ประสบภัย 6 ตำบล ได้แก่  หนองจิก ทุ่งหลวง หนองกระทิง โตนด บ้านป้อม และสามพวง  ตั้งแต่วันที่ 16 –  30 พฤษภาคม 2560 พบผู้มีปัญหาสุขภาพจิตรวม 105 คน เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด

ส่วนใหญ่บ้านเรือนและพืชผลได้รับความเสียหาย  โดยพบผู้มีความเครียดมากเช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ จำนวน 11 คน มีภาวะซึมเศร้า 94 คน  ในจำนวนนี้มีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง 15 คน ได้จัดระบบดูแลโดยได้ให้ความรู้แก่ญาติเพื่อร่วมให้กำลังใจและเฝ้าระวังบุคคลภายในครอบครัว  ร่วมกับอสม.และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และวางแผนติดตามประเมินสภาวะจิตใจซ้ำในระยะ 2 สัปดาห์  ถึง 3 เดือน  และ  3  เดือนขึ้นไป จนกว่าจิตใจจะกลับมาสู่สภาวะปกติ

ทางด้าน นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า  ความเครียดเป็นผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อาการจะค่อยๆดีขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ วิธีการบรรเทาคลี่คลายความเครียดที่เกิดจากน้ำท่วม ขอให้ผู้ประสบภัยปรับวิธีคิดและปล่อยวางเรื่องทรัพย์สินสิ่งของนอกกายซึ่งอนาคตยังมีโอกาสหาใหม่ได้ พยายามใช้ชีวิตเรียบง่ายเพื่อลดความรู้สึกเครียดลงบ้าง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยทำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีขึ้น  จัดลำดับการแก้ไขปัญหาก่อนหลัง   

แนะนำให้หากิจกรรมทำตามปกติ พูดคุยกับคนใกล้ชิดหรือเพื่อนบ้านเพื่อสร้างกำลังใจซึ่งกันและกัน  สวดมนต์ไหว้พระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ทำได้ เช่นการยืดเหยียด การบริหารร่างกายก้มๆ เงยๆ

รวมทั้งปรับเปลี่ยนตัวเองจากผู้รับความช่วยเหลือเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเอาใจใส่ช่วยเหลือกันและกันในชุมชน  ไม่ดื่มเหล้า เนื่องจากไม่ได้ช่วยคลายเครียด 

ทั้งนี้หากยังไม่ดีขึ้นเช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ใจสั่น สามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

เรื่องน่าสนใจ