ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า เช้าวันนี้ (13 มิถุนายน 2560 ) ที่โรงแรมนิภาการ์เด้น อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี   นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.จากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชจำนวน 118 คน เพื่อพัฒนาให้เป็นอสม.เชี่ยวชาญสาขาสุขภาพจิตชุมชนว่า

ในปี 2560 นี้ กรมสุขภาพจิต ได้จัดอบรม อสม.จาก 825 อำเภอจาก 76 จังหวัด เพื่อพัฒนาศักยภาพให้มีความเชี่ยวชาญในสาขาสุขภาพจิตชุมชนรุ่นแรกรวมเกือบ 2,000 คน  มีความรู้ในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัย สามารถค้นหาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นในพื้นที่รับผิดชอบได้

โดยเฉพาะปัญหาสำคัญเช่น พัฒนาการเด็กล่าช้า โรคซึมเศร้าความเครียดอื่นๆ สามารถให้คำปรึกษาและส่งต่อผู้ที่มีปัญหาได้รับบริการจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างรวดเร็ว  พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจประชาชนในเรื่องสุขภาพจิตที่ถูกต้อง มองผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิตใจอารมณ์ว่าเป็นคนป่วยต้องได้รับการรักษา ไม่ใช่เป็นคนบ้าหรือคนวิกลจริต จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง เนื่องจากอสม.เป็นผู้ที่รู้จักชุมชนได้ดีที่สุด

“สุขภาพจิตเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดของประชาชน ปัญหาจากสุขภาพจิตจะออกมาในรูปความรุนแรงทางสังคม เช่นการทะเลาะวิวาท อาชญากรรม การใช้สารเสพติด การฆ่าตัวตาย เป็นต้น 

ผลสำรวจระดับชาติครั้งล่าสุดในปี 2556 พบคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป มีปัญหาสุขภาพจิต มีความผิดปกติทางพฤติกรรม เสพสารเสพติดและโรคทางจิตเวชต่างๆ   ร้อยละ 13.9 หรือมี 7 ล้านกว่าคน มากที่สุดในภาคเหนือร้อยละ 17.7 รองลงมาคือภาคกลาง ร้อยละ 13.9  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 13  ภาคใต้ร้อยละ  12.8 ส่วนในกทม.พบร้อยละ 11.5  แต่ยังเข้าถึงบริการน้อยเพียงร้อยละ  12

กรมสุขภาพจิตจึงเร่งดำเนินใช้มาตรการเชิงรุกลงสู่ตำบล ชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศ ให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นและได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องจนดีขึ้นหรือหายขาด  และส่งเสริมสุขภาพจิต ป้องกันคนดีทุกกลุ่มวัยไม่ให้ป่วย ” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า อสม.ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาสุขภาพจิตชุมชน จะมีศักยภาพในการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นแก่ผู้ที่ประสบปัญหาวิกฤติฉุกเฉินต่างๆ เช่นภัยพิบัติทางธรรมชาติอาทิน้ำท่วม   แผ่นดินไหว ความรุนแรงอื่นๆ สามารถรายงานสถานการณ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบภายใน 24 ชั่วโมง 

สามารถตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตเพื่อการดูแลอย่างทันท่วงที 3 เรื่อง ได้แก่1.พัฒนาการล่าช้าในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 2. ประเมินความเครียดง่ายๆในกลุ่มที่สูญเสียของรัก ผู้ประสบภัยต่างๆ

และ 3. ประเมินอาการซึมเศร้าขั้นต้น 2 ข้อเพื่อเฝ้าระวังป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง เช่นผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล  และรู้สัญญานเตือนการฆ่าตัวตายทั้งในรูปแบบคำพูด การเขียนและพฤติกรรมแสดงออก เพื่อให้การช่วยเหลือย่างทันท่วงที  รวมทั้งช่วยติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในชุมชนป้องกันการขาดยาซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในขณะนี้  พร้อมทั้งเผยแพร่สายด่วนหมายเลข1323 ซึ่งเป็นช่องทางบริการพิเศษให้คำปรึกษาประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตฟรีตลอด 24 ชั่วโมงด้วย

นอกจากนี้อสม.เชี่ยวชาญฯยังช่วยดูแลคนในชุมชนที่มีความผิดปกติทางจิตใจที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิตพ.ศ.2551 ได้แก่ผู้ที่มีอาการคุ้มคลั่งอาละวาด ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น ทำลายข้าวของ หูแว่ว พูดคนเดียว มีพฤติกรรมแปลกๆเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพาเข้าสู่ระบบการบำบัดโดยเร็ว

ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชเข้าถึงบริการ ได้รับการดูแลรักษาควบคุมอาการมีโอกาสหายขาดมากขึ้น  สร้างความมั่นใจและความปลอดภัยสังคมด้วย

ทั้งนี้ได้มอบให้ศูนย์สุขภาพจิต 12 แห่งทั่วประเทศร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ดำเนินการคัดเลือกอสม.จากตำบลจัดการสุขภาพบูรณาการ อำเภอละ 1 ตำบลๆละ 2 คน เพื่อเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรเป็นเวลา 2 วัน โดยกรมสุขภาพจิตได้จัดทำคู่มือการทำงานของอสม.เชี่ยวชาญฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมหลังผ่านการอบรมแล้ว            

เรื่องน่าสนใจ