หูด ติ่งเนื้อ กระเนื้อ ปัญหาผิวสุดกวนใจ ต้องรักษาอย่างไรจึงจะหายดี เพราะเมื่อพูดถึงหูด ติ่งเนื้อ กระเนื้อแล้ว คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะถึงแม้จะไม่มีอันตรายที่ร้ายแรงต่อร่างกาย แต่ก็สร้างความไม่สวยงาม และยังสร้างความน่ารําคาญอีกด้วย ยิ่งสําหรับคนที่เป็นหูดแล้ว ไม่ใช่เพียงความไม่สวยงามที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังทําให้เกิดความไม่สบายใจกับผู้ที่เป็น เพราะหูดถือเป็นโรคที่ติดต่อไปสู่คนอื่นได้ จึงอาจสร้างความอับอาย และอาจถูกสังคมรังเกียจ

 

หูด
ภาพจาก rd.com

 

ซึ่งการรักษาในสมัยก่อน ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ แถมยังมีราคาสูง และอาจทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ให้ช้ำใจเล่นอีกต่างหาก แต่วันนี้ไม่ต้องเป็นกังวลอีกต่อไป เพราะมีนวัตกรรมการรักษาหูด ติ่งเนื้อ กระเนื้อ ที่ได้ผลดี และมีประสิทธิภาพ ง่าย ปลอดภัย และไม่เจ็บตัว 

 

สาเหตุของการเกิดหูด
ติ่งเนื้อ กระเนื้อ หูด ถือเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง โดยเนื้องอกนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ เนื้องอกชนิดธรรมดา (ไม่เป็นอันตราย) เนื้องอกชนิดร้าย (อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง) และเนื้องอกที่มีเชื้อไวรัส ซึ่งหูดคือเนื้องอกที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เอชพีวี (HPV / Human Papillomavirus
) เมื่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ แทรกซึมเข้าไปในเซลล์ผิวหนัง ก็จะเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นหูดงอกออกจากผิวหนัง หูดสามารถติดต่อโดยการสัมผัสจากคนสู่คนได้ โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 6-12 เดือน

 

หูด
ภาพจาก 3dsbiovia.com

 

หูด มีหลายชนิด อาจมีขนาดแตกต่างกันไป ขึ้นกับตําแหน่งที่เป็น ซึ่งอาจขึ้นเดี่ยวๆ หรือหลายๆ จุดได้ เป็นโรคที่ไม่มีอันตราย แต่อาจทําให้ดูน่าเกลียด และสร้างความรําคาญแก่ผู้ป่วย หรืออาจมีอาการปวดได้เป็นบางครั้ง ส่วนมากจะยุบหายได้เองตามธรรมชาติ (แม้จะไม่ได้รับการรักษา) บางคนอาจเป็นอยู่เป็นปีๆ กว่าจะยุบหาย เมื่อหายแล้ว อาจกลับเป็นใหม่ได้อีก แต่ก็ควรได้รับการรักษา เพราะถือเป็นโรคที่ติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้

ส่วนติ่งเนื้อ กระเนื้อ มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ และอายุที่มากขึ้น มักพบในผู้ที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป จะมีขนาดใหญ่ และจํานวนมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้น มักมีประวัติเป็นในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งไม่มีอันตราย เพียงแต่ดูไม่สวยงามเท่านั้น

 

หูด
ภาพจาก sciencesource.com

 

ลักษณะอาการของการเกิดหูด ติ่งเนื้อ กระเนื้อ
หูดจะมีลักษณะเป็นตุ่มกลมแข็งๆ ผิวหยาบ ออกเป็นสีเทาๆ เหลืองๆ หรือน้ำตาล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-10 มิลลิเมตร มักจะขึ้นตรงบริเวณที่ถูกเสียดสีง่าย เช่น มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า หนังศีรษะ นิ้วมือ นิ้วเท้า หรือตามผิวหนังส่วนอื่นๆ รวมทั้งที่อวัยวะเพศ (เรียกว่าหูดหงอนไก่) ช่องคลอดและทวารหนัก เป็นต้น ซึ่งอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้  
หูดที่เป็นที่ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า จะมีลักษณะเป็นไตแข็งๆ หยาบๆ แต่จะแบนราบเท่าระดับผิวหนังที่ปกติ เพราะมีแรงกดขณะสัมผัสหรือเดิน หูดถือเป็นโรคติดต่อ อาจติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัสผู้ป่วย หรือจากการสัมผัสสิ่งของที่ผู้ป่วยโรคหูดเคยสัมผัสมาก่อน เช่น จากการใช้ห้องน้ำ สระว่ายน้ำ หรือสิ่งของต่างๆ

 

หูด
ภาพจาก espace-zapping.com

 

ติ่งเนื้อ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง ขนาดประมาณน้อยกว่า 1 มม. จนถึงมากกว่า 10 มม. เวลาเสียดสีอาจมีเลือดออกได้ ลักษณะของติ่งจะมีสีเดียวกับผิวหนัง พบบริเวณเปลือกตา คอ รักแร้ ใต้ราวนม ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ แต่ถ้ามีการเสียดสีอาจเจ็บได้

 

หูด
ภาพจาก dermatologyadvisor.com

 

กระเนื้อ มีลักษณะเป็นเป็นตุ่มเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน ซึ่งจะขยายใหญ่ นูนหนา สีเข้ม และขรุขระขึ้นได้อย่างช้าๆ ยิ่งมีอายุเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งมีขนาดใหญ่ และเพิ่มจํานวนขึ้น พบได้ที่บริเวณใบหน้า คอ ลําตัว ศีรษะ หน้าอก และหลัง

แนวทางการรักษา
การรักษาหูด ติ่งเนื้อ กระเนื้อ มีแนวทางการรักษาหลายวิธี ซึ่งเริ่มแรก ต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อความปลอดภัย และเป็นแนวทางในการรักษาต่อไป สําหรับการรักษา ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอก ในบางรายอาจไม่ต้องรักษาก็ได้ หากไม่เป็นอันตราย เช่น ติ่งเนื้อ กระเนื้อ ที่ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย เพียงแต่อาจดูไม่สวยงามเท่านั้น โดยในสมัยก่อน นิยมรักษาด้วยการผ่าตัด การจี้ออกด้วยกรด การใช้ยาทา การทานยาต้านเชื้อ ส่วนในสมัยนี้ ก็มีการรักษาด้วยวิธีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจี้ด้วยไฟฟ้า การรักษาด้วยเลเซอร์ หรือหากเป็นในบริเวณที่รักษายาก เช่น ทวารหนัก ช่องคลอด ก็สามารถรักษาได้ด้วยการส่องกล้องขยาย ซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ เป็นวิธีที่ปลอดภัย เห็นผล และทิ้งแผลเป็นไว้น้อย หรืออาจจะไม่มีเลย

 

หูด
ภาพจาก alale.co

 

การเตรียมตัวก่อนการรักษา
สําหรับคนไข้บางราย ที่ทําการรักษาหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ต้องมีการเตรียมผิวก่อนการรักษา เพื่อป้องกันรอยที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการรักษา เพื่อลดสีผิวเข้ม โดยเฉพาะคนที่มีผิวคล้ำ แพทย์อาจจะฉีดยาเพื่อลดการสร้างเม็ดสี ร่วมกับการลอกหน้า ใช้ครีม ทั้งก่อนหรือหลังการรักษา

การดูแลตนเองหลังการรักษา
หลังการรักษา ต้องทายาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทาบริเวณแผลทุกวัน เช้า-เย็น และป้องกันไม่ให้แผลโดนน้ำและแสงแดด ประมาณ 1 สัปดาห์ แผลก็จะหายเป็นปกติ

••••••••••••••••••••••••••••••

ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษา ก็จะมีราคาตั้งแต่ 2,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับจํานวนหูด ติ่งเนื้อ กระเนื้อ ที่ทําการรักษา หรืออาจคิดเป็นจํานวนครั้งของการยิงเลเซอร์ สําหรับเลเซอร์บางชนิดค่ะ

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ