เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมีวาระการพิจารณาเรื่องความก้าวหน้าการจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษปีงบประมาณ 2561
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากความคืบหน้าของการดำเนินการจัดหายาประจำปีงบประมาณ 2561 จนถึงขณะนี้ขอยืนยันว่า ยาไม่ขาดแน่นอน ผู้ป่วยและหน่วยบริการจะได้รับยาต่อเนื่อง จากการพูดคุยกับทาง อภ. ยาที่ซื้อเพิ่มไปสามารถใช้ได้ถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ และเมื่องบประมาณของปี 2561 มา ซึ่งปกติงบประมาณจะมาสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมางบประมาณมาวันที่ 7 ตุลาคม 2559 ก็สามารถดำเนินการซื้อยาตามกระบวนการที่ดำเนินการไว้ในขณะนี้ทันที แต่เพื่อป้องกันไว้ เบื้องต้นได้ตกลงกับทาง อภ.แล้วว่ากรณีงบประมาณมาไม่ทัน จะยืมยากับทาง อภ.ก่อน แต่ ขอยืนยันว่า ยามีพอ ไม่เกิดสถานการณ์ยาขาดแน่นอน
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านหน่วยงานซื้อยา อาจจะทำให้หลายฝ่ายเกิดความวิตกกังวล แต่ยืนยันว่าผู้ป่วยจะไม่ขาดยาแน่นอน เหตุการณ์ขณะนี้ ที่ผู้ป่วยกังวลว่ายาขาด คือ ยาอะบาคาเวียร์ (Abacavir tab) ยาต้านไวรัสเอดส์ สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาทีโนโฟเวียร์ไม่ได้ และเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นการขาดแคลนที่เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากผู้ผลิตผลิตยาไม่ทัน แต่ตอนนี้ดำเนินการแก้ไขปัญหาได้แล้ว มียาพอสำหรับผู้ป่วย ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่เกิดจากการเปลี่ยนหน่วยงานจัดซื้อยารวม แต่เป็นปัญหาของผู้ผลิตและทุกประเทศเจอปัญหานี้เช่นกัน ดังนั้นจึงขอให้ผู้ป่วยมั่นใจว่ายามีพอไม่มีปัญหาขาดแน่ ตามกระบวนการจะคงคลังไว้ 2 เดือนอยู่แล้ว ในภาพรวมคุมได้อยู่ ผู้ป่วยและหน่วยบริการอาจจะมีความกังวลบ้างในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่จะไม่ได้รับผลกระทบ ยืนยันว่ายาไม่ขาดแคลนแน่นอน
ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปีงบประมาณ 2561 นำเสนอความก้าวหน้าต่อที่ประชุมบอร์ด สปสช. ว่า หลังจากประธานบอร์ด สปสช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยาฯ เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2560 ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นชอบแผนจัดหายาและเวชภัณฑ์ปี 2561 พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานต่อรองราคายา โดยผลการต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์ 9 หมวด 124 รายการ ได้แก่ น้ำยาล้างไตและยา EPO, วัคซีน, ยาต้านไวรัสเอชไอวี, ยาบัญชี จ2, ยารักษาวัณโรค, ยากำพร้าและยาต้านพิษ, ยาหัวใจและหลอดเลือด, สายสวนหัวใจ, ถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น โดยมี 21 รายการที่ได้ราคาลดลง จึงสามารถประหยัดงบประมาณได้อีกกว่า 52 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2560 สาเหตุที่สามารถต่อรองได้ราคาลดลง เนื่องจากยาบางรายการมีจำนวนการซื้อเพิ่มขึ้น จึงทำให้ได้ราคาถูกลง และบางรายการมีคู่แข่งในตลาดเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาลดลง
ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ได้มีการตรวจสอบคลังสินค้าปีงบประมาณ 2560 ร่วมกันระหว่าง สปสช., รพ.ราชวิถี และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อส่งมอบความรับผิดชอบให้กับ รพ.ราชวิถีดำเนินการต่อในปีงบประมาณ 2561 และขออนุมัติจำหน่าย ทำลายยาหมดอายุ ในกลุ่มยากำพร้าหรือยาที่มีอัตราผู้ป่วยน้อยแต่มีความจำเป็นต้องสำรอง
“ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบการขึ้นทะเบียนเครือข่ายหน่วยบริการ รพ.ราชวิถีเป็นเครือข่ายหน่วยบริการสำหรับจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว ซึ่ง สปสช.ได้ออกประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างแจ้งให้หน่วยบริการทุกแห่งทราบต่อไป” นพ.จักรกริช กล่าว