ที่มา: Matichon Online

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดกระแสการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับละครเรื่อง “พิษสวาท” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในขณะนี้ โดยเป็นข้อมูลทางด้านภาษาไทย ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก “สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” 

01

ผศ.ดร.ชานป์วิชช์ ระบุว่า ชื่อเรื่อง “พิษสวาท” นี้ ผู้แต่งจงใจเล่นเสียงให้พ้องกับคำว่า “พิศวาส” อีกทั้งเล่นความโดยนำคำว่า “พิษ” มาบวกกับ “สวาท” ที่แปลว่า ความรัก ความพอใจทางกามารมณ์ หากแปลตรงตัว คงหมายถึง “พิษรัก” หรือ “ความรักที่เป็นพิษ” โดยคำว่า พิษสวาทนี้ ไม่ปรากฏในพจนานุกรม แต่จะมีเพียงคำว่า “พิศวาส” ซึ่งแปลว่า ความรักใคร่ ความเสน่หา นอกจากนั้น อาจารย์ท่านดังกล่าว ยังกล่าวถึงข้อพึงระวังในการสะกดคำที่มักสับสน อย่าเขียนผิดเป็น “พิศวาท” ข้อความมีดังนี้ 

“ชื่อเรื่อง “พิษสวาท” นี้ ผู้แต่งจงใจเล่นเสียงให้พ้องกับคำว่า “พิศวาส” รวมถึงเล่นความด้วย ท่านที่อินกับละครต้องระวังให้ดี เพราะคำว่า “พิษสวาท” นั้น ไม่มี คำที่มีในพจนานุกรม ที่ถูกต้องคือ “พิศวาส” เท่านั้น

“พิษสวาท” คุณทมยันตีตั้งชื่อ โดยการนำคำว่า “พิษ” (สันสกฤต วิษ, บาลี วิส) มาบวกกับคำว่า “สวาท” ที่แปลว่า ความรัก ความพอใจทางกามารมณ์ (สันสกฤต สฺวาท รสอร่อย รสหวาน เกี่ยวข้องกับคำว่า สฺวาทุ “ความหวาน น้ำตาล รสหวาน …” ซึ่งร่วมรากกับคำว่า sweet, süß, sauve, suavis, soave ด้วย) “พิษสวาท” แปลตรงตัว ก็คงเป็น “พิษรัก” หรือ “ความรักที่เป็นพิษ” กระมัง

ส่วนคำที่แปลว่า “ความรักใคร่” “ความเสน่หา” นั้น ที่ถูกต้อง เขียนว่า “พิศวาส” มาจากภาษาสันสกฤต “วิศฺวาส” ประกอบศัพท์จากอุปสรรค วิ- “ยิ่ง แจ้ง ต่าง พิเศษ” + กริยาธาตุ ศฺวาส “หายใจ” … “วิศฺวสฺ” จึงแปลว่า “หายใจคล่อง หายใจโล่ง เชื่อใจ ไว้วางใจ” เมื่อลงปัจจัยสร้างเป็นคำนามจึงแปลตาม “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” “ความไว้วางใจ” (จะเห็นว่าไม่มีความหมายที่แปลว่า ความรัก ความใคร่ทางกามารมณ์แต่อย่างใด ในภาษาเดิม) คำที่เป็นคู่กันนี้ ในภาษาบาลี ไทยเราก็รับมาใช้เช่นกัน รูปบาลี คือ “วิสฺสาส” ความหมายก็เช่นเดียวกับความหมายในภาษาสันสกฤต เมื่อรับคำบาลี “วิสฺสาส” มาเราเขียนโดยตัด -ส- ออกหนึ่งตัว และประวิสรรชนีย์ให้ออกเสียงเป็น “วิสาสะ” และใช้ในความหมายว่า “ความคุ้นเคย ความสนิทสนม การถือว่าเป็นกันเอง” ใกล้กับภาษาเดิมที่รับมา

ดูละคร “พิษสวาท” ต้องรู้ว่านี่เป็นชื่อนวนิยาย เป็นชื่อเฉพาะ ถ้าจะใช้คำในบริบทที่แปลว่า “รักใคร่ หรือเอ็นดูใคร” ต้องเขียน “พิศวาส” แถม … พึงระวังอีกอย่าง “พิศวาส” อย่าเขียนผิดเป็น “พิศวาท” นะ อย่าสับสนระหว่าง “สวาท” และ “พิศวาส” ด้วย” 

หลังจากข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีการแชร์และยกย่องว่าภาษาไทยมีความลึกซึ้งอย่างมาก อีกทั้งขอบคุณผศ.ดร.ชานป์วิชช์ และคณะอักษรศาสตร์ที่เผยแพร่ความรู้ให้สังคมรับทราบร่วมกัน

เรื่องน่าสนใจ